Press ข่าววันนี้ 18 ตุลาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 348
กรมสุขภาพจิต ร่วมจับมือกับ TikTok, SATI App และเครือข่ายผู้สร้างเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและใจจากทุก gen เปิดตัวโครงการ Mindful Makers ย้ำความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดีย และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (18 ตุลาคม 2567) กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการส่งเสริมและการเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิตจับมือ TikTok และเครือข่ายขยายการให้ความรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ย้ำชัดความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หากผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยการสำรวจ ข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสะสม 503,884 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 - 14 ต.ค. 67 พบเสี่ยงซึมเศร้าถึง 51,789 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.28 เสี่ยงทำร้ายตนเอง จำนวน 87,718 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.4 ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น ที่ต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนว่าเราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลนำโดย นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติดเป็นอย่างมาก โดยนโยบายเร่งด่วนที่ 8 ของรัฐบาลนั้น รัฐบาลจะแก้ไขปัญหา ยาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร รวมถึงนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ ที่รัฐบาลต้องการยกระดับสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม บริษัท TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสื่อเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเติบโตและพัฒนา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี จึงเป็นความท้าทายและภารกิจสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า นโยบายสำคัญระดับกระทรวงสาธารณสุข นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน คือการ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ร่วมกับการส่งเสริมป้องกัน สร้างความตระหนักและเพิ่มความรอบรู้ในสังคม เพราะฉะนั้นกรมสุขภาพจิตจึงมีบทบาท อย่างมากในการนำนโยบายทั้งหมดนี้ มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้ระบบสุขภาพจิตของประเทศมีความก้าวหน้ายิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่า การแก้ปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลนี้ ไม่สามารถทำได้โดยภาครัฐเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม กรมสุขภาพจิตนั้นมีความร่วมมือที่ดีกับทาง TikTok มาโดยตลอด กรมสุขภาพจิตเองเคยได้รับรางวัล “Social impact Partner of the Year” ในงาน “TikTok Awards Thailand 2022” ซึ่งกรมสุขภาพจิตเป็นส่วนราชการแห่งแรกๆ ที่ใช้ Platform TikTok สื่อสารความรู้สู่ประชาชน ผ่านช่องทาง TikTok ของ กรมสุขภาพจิต ชื่อว่า “thaidmh” และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน TikTok อย่างมาก โดยมีวิดีโอยอดวิวสูงสุดของกรมสุขภาพจิต นั้นมียอดวิวถึง 26 ล้านวิว และวิดีโอที่มียอดวิวสูงกว่าล้านวิวอีกเป็นจำนวนมาก การที่บริษัท TikTok ได้ริเริ่มแคมเปญ 'TikTok Mindful Makers' ร่วมกับองค์การอนามัยโลกและ Mental Health Trust Network Program จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตในวงกว้าง แคมเปญ 'TikTok Mindful Makers' นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการใช้พลัง ของสื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างชุมชนออนไลน์ที่ให้การสนับสนุนและเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ร่วมกันนำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต สร้างสังคมที่เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เราทุกคน มีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางออนไลน์ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้อง การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ต้องการ
นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ประจำประเทศไทย บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวว่า ในนามของ TikTok ขอยืนยันว่าเราเป็นแพลตฟอร์มที่มีเจตนารมณ์ในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และมอบความสุขให้กับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ทำให้แพลตฟอร์มของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TikTok ได้ให้คุณค่า และได้ดำเนินการในประเด็นสุขภาพจิตมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานให้ความสำคัญและให้ความสนใจในการรับชมโครงการดูแลใจไปด้วยกันมากกว่า 13,000 ล้านครั้ง ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2564 พบว่า 1 ใน 7 ของเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี ประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งแม้ว่าคนส่วนใหญ่ของคนวัยนี้จะใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และพบเจอปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจ โดย Love Frankie ซึ่งเป็น partner ของ TikTok ได้ทำการสำรวจข้อมูลและพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่แสดงออกถึงความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น TikTok ได้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานและได้ริเริ่มโครงการ Mindful Makers ในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข SATI App และเครือข่ายผู้สร้างเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและใจจาก generation ต่างๆ ที่มีทั้งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คุณหมอ และคุณแม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมความเข้าใจระหว่าง generation ด้วยว่าเรื่องสุขภาพจิตมีความละเอียดอ่อนและสามารถจัดการได้เร็วหากเราใส่ใจและให้ความสำคัญกันตั้งแต่แรก ที่ TikTok อยากมอบให้แก่ผู้ใช้งานทุกคนอีกด้วย
(18 ตุลาคม 2567)