Press ข่าววันที่ 15 พฤษภาคม 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1442
กรมสุขภาพจิตชี้ มุมมองทางการเมืองของแต่ละบุคคลแตกต่างกันได้ วอน สื่อสารด้วยความเข้าใจ แตกต่างแต่ไม่แตกแยก
วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) กรมสุขภาพจิต ขอให้สังคมติดตามการรายงานผลการเลือกตั้งด้วยสติ ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลการเลือกตั้งอย่างเหมาะสม เนื่องจากทุกบุคคลมีพื้นฐานความชื่นชม ศรัทธาและประสบการณ์ต่างกัน ย่อมมีความคาดหวังที่หลากหลาย ทำให้มีทั้งผู้ที่มีความเห็นแตกต่างและไม่สมหวังในผลของการเลือกตั้งฯ ครอบครัวและชุมชนควรสื่อสารกัน ด้วยความเข้าใจ ยอมรับ และป้องกันความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความรุนแรงทั้งในครอบครัวหรือในสังคม
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกระแสความใส่ใจในการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 กรมสุขภาพจิตได้ติดตามสถานการณ์ทางอารมณ์และสุขภาพจิตของประชาชนอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญในสังคม และจากรายงานทางระบบ Mental Health Check In ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 พบว่า ประชาชนมีระดับความเครียดเริ่มขยับตัวสูงขึ้นจาก ร้อยละ 2.17 ตั้งแต่ต้นปี 2566 และในระยะสองสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ระดับความเครียดขยับเพิ่มถึง ร้อยละ 3.07 และมีระดับสูงขึ้นเท่าตัว คือสูงกว่าร้อยละ 6.0 ในบางวัน และในช่วงเวลาการรอคอยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนี้ มีแนวโน้มที่ความเครียดของประชาชนจะสูงขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวหรือกลุ่มต่างๆในสังคมที่มีสมาชิกหลายกลุ่มวัย ที่อาจมีผลต่อมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างได้มากขึ้น
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ คือ สถานการณ์การรายงานผลการเลือกตั้งฯ ที่ประชาชนหลายภาคส่วนยังคงตั้งใจ จดจ่อเพื่อติดตามว่าพรรคหรือบุคคลที่ตนเองเลือก จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งในวงจรของการเลือกตั้งย่อมมีทั้งผู้ที่ลงคะแนนเลือกแล้วเป็นไปตามที่หวังและไม่สมหวัง หากผู้ที่ติดตามข่าว ไม่สามารถดูแลอารมณ์ของตนได้ อาจเกิดปัญหาการมีปากเสียงหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งได้ กรมสุขภาพจิตเสนอข้อแนะนำเพื่อการดูแลสุขภาพจิตและสัมพันธภาพกับคนรอบข้างในช่วงของการรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ด้วยหลัก 4 ไม่ 4 ต้อง โดย 4 ไม่ ได้แก่ 1. ไม่กดดัน ตำหนิ ผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง 2. ไม่เยาะเย้ย ดูถูก หรือถากถาง ผู้ที่ผิดหวัง 3. ไม่ใส่อารมณ์ ความรู้สึกกับข่าวมากเกินไป 4. ไม่ล้อเลียน ไม่ซ้ำเติมความผิดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และ 4 ต้อง ประกอบด้วย 1. ต้องรับฟังอย่างเปิดใจ 2. ต้องหลีกเลี่ยงการรับข่าวสารมากเกินไป 3. ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเอง 4. ต้องให้กำลังใจ พูดคุย ด้วยสติและถ้อยคำที่สุภาพแสดงความห่วงใย ซึ่งโอกาสนี้นอกจากผู้ที่ไม่สมหวังจะต้องยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง ผู้ที่สมหวังเองก็ต้องแสดงออกถึงการให้เกียรติ มีน้ำใจนักกีฬาโดยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อให้ครอบครัวหรือญาติมิตรได้ปรับปรุงสายใยความผูกพันและสังคมก็สามารถดำเนินพัฒนาการทางการเมืองระดับมหภาคต่อไปได้ ด้วยความสงบและสันติสุข
กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารผลของการลงคะแนนการเลือกตั้งฯ อย่างมีสติและปล่อยใจให้สงบ แต่หากรู้สึกเครียดสามารถสำรวจสุขภาพใจด้วย Mental Health Check-In (MHCI)เพื่อรับทราบแนวทางการดูแลตนเอง หรือรับการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
เสริมสร้างสุขภาพใจ และสายใยครอบครัว ในช่วงลุ้นผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ **** 15 พฤษภาคม 2566