Press ข่าววันที่ 2 เมษายน 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 767
กรมสุขภาพจิต ร่วม พม. และ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) พัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กและบุคคลออทิสติก ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการทางการแพทย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
วานนี้ 2 เมษายน 2566 อธิบดีกรมสุขภาพจิตมอบหมายให้ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกิจกรรมรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2566 (16 th WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD)) นับเป็นการประสานความร่วมมือที่สำคัญร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มุ่งหมายให้ประเทศขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลกเป็นไปตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ประกาศข้อมติที่ 62/139 ในปี ค.ศ. 2007 ที่กำหนดให้ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์เพื่อเด็กและบุคคลออทิสติก โดยมุ่งหมายให้สังคมโลกร่วมกันจัดบริการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกอย่างบูรณาการ ตลอดเส้นทางชีวิตของแต่ละบุคคลอย่างสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นทั้งองค์การสหประชาชาติจัดได้กิจกรรมรณรงค์นี้เป็นปีที่ 16 โดยประเทศไทยได้ดำเนินการสนับสนุนมาโดยตลอด โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ 14 ที่เครือข่ายออทิสติกจัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้มีความพิเศษ คือ หน่วยงานด้านดูแลงานสุขภาพระดับประเทศ ได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันด้วย โดยประเด็นรณรงค์ในปี 2023 ได้แก่ “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All” ที่มุ่งให้บุคคลออทิสติกไปสู่เป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งหมายให้ประเทศขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
ให้บุคคลออทิสติกได้รับสิทธิ เสรีภาพ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการด้วยการสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมถ้วนหน้า ความเสมอภาคในการทำงาน
การสนับสนุนการตัดสินใจของบุคคลออทิสติกในระดับนโยบาย การส่งเสริมครอบครัว ผู้ดูแล และเครือข่ายด้านบุคคลออทิสติก ให้สอดคล้องกับวาระแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความยั่งยืน ของบุคคลออทิสติก ในส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้นำประเด็นต่างๆ ไว้ใน “แผนปฏิบัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระยะ 5 ปี 2566-2570” ด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญสำหรับเด็กบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ คือ ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ และการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยรัฐต้องจัดให้มีหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ การส่งเสริมการทำงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อให้บุคคลออทิสติก เข้าถึงสิทธิที่เป็นจริงในทุกด้านสอดคล้องกับหลักการ แผนปฏิบัติรูปประเทศด้านสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ด้วย
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลเด็กออทิสติกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดบริการบำบัดรักษาเด็กออทิสติกเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าอัตราการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับออทิสติกยังมีเพียง ร้อยละ 50 เนื่องจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และสหวิชาชีพด้านนี้ มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังมีไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลิตจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และดำเนินงานภายใต้ “โครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น”
เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต ให้สามารถจัดบริการสำหรับเด็กออทิสติก พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาหน่วยร่วมบริการสำหรับบุคคลออทิสติก ระหว่าง กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิออทิสติกในวันนี้ จึงนับเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปให้เป็นหน่วยร่วมบริการสุขภาพปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับบุคคลออทิสติก เพื่อให้สามารถจัดบริการเบื้องต้นให้กับบุคคลออทิสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญได้แก่ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยออทิสติก สำหรับบุคลากรผู้ให้บริการในศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จำนวน 32 แห่ง การร่างมาตรฐานหน่วยร่วมบริการ ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ สำหรับบุคคลออทิสติก การจัดทำร่างเกณฑ์การรับส่งต่อระหว่างหน่วยร่วมบริการและหน่วยบริการทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการและจัดทำข้อเสนอในเรื่องกำหนดอัตราค่าบริการ ทั้งนี้จากความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ นับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดูแลบุคคลออทิสติกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขต่อไป
นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) กล่าวว่า จัดกิจกรรมรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลกเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่า
ทุกภาคส่วนของสังคม ควรมุ่งไปสู่โลกที่ยอมรับความหลากหลายแตกต่างของบุคคล พัฒนาระบบนโยบาย การยอมรับบุคคลออทิสติกทั้งในระดับบ้าน ครอบครัว ชุมชน สถานที่ทำงาน และสังคม โดยส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกเข้าถึงสิทธิ พิทักษ์สิทธิของตน เข้าถึงการศึกษาแบบเรียนรวม การเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่เท่าเทียม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระดับต่างๆ การสนับสนุนบทบาทของครอบครัว ชุมชน เครือข่ายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้แทนชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ระดับจังหวัด บุคลากรในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกในระดับชุมชน และนำประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันในการส่งเสริมศักยภาพบุคคลออทิสติกและครอบครัวสู่การปฏิบัติ การเรียนรู้เรื่องกฎหมาย เกี่ยวข้อง กลไกการคุ้มครองสิทธิ การขจัดการเลือกปฏิบัติ แนวคิดในการส่งเสริมพัฒนาการและการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม และในปีนี้ มูลนิธิออทิสติกไทย ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนที่สนใจสนับสนุนเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว ในชุมชนต้นแบบ 20 จังหวัด” ที่มีการใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ระบบอินเตอร์เน็ต และการจัดอุปกรณ์ เช่น แท็บเล็ตที่มีโปรแกรมฝึกทักษะภาษาและการสื่อสาร การฝึกทักษะชีวิต ทักษะสังคมและเครื่องมือสังเกตและคัดกรองพัฒนาการเบื้องต้น ทั้งนี้จะทำการศึกษาวิธีการกับกลุ่มเป้าหมาย 500 คน เพื่อสรุปเป็นบทเรียนและขยายเป็นรูปแบบบริการที่มีมาตรฐานต่อไป
ความร่วมมือเพื่อบุคคลออทิสติกจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กรมสุขภาพจิต เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นการส่งเสริมการบริการทางการแพทย์และการช่วยเหลือเพื่อให้บุคคลออทิสติกได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างเป็นปกติ และเกิดความผาสุข
ทุกภาคส่วนร่วมใจ ดูแลออทิสติกให้เข้าถึงบริการ สธ.และพัฒนาคุณภาพชีวิต
3 เมษายน 2566
3 เมษายน 2566