Press ข่าววันที่ 29 มีนาคม 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 635
ผู้ว่าฯนครสวรรค์ พร้อมสนับสนุนเปิดตึกฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดรพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯ และพัฒนาระบบคัดกรองส่งต่อบำบัดครบวงจร ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล "นครสวรรค์สุขใจ"
วันนี้ 29 มีนาคม 2566 อธิบดีกรมสุขภาพจิตร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดตึกฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ณ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เพื่อรองรับและส่งต่อการบริการด้านสุขภาพจิตภายในเขตสุขภาพที่ 3 จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มอิเล็คทรอนิกส์ "นครสวรรค์สุขใจ" ให้ผู้ป่วยได้รับการคัดกรองดูแลต่อเนื่องที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการทางจิตกำเริบและการก่อความรุนแรงในสังคม
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เขตสุขภาพที่ 3 มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness and Violence : SMI-V) ยอดสะสมตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาจำนวนทั้งสิ้น 863 คน กรมสุขภาพจิตพยายามพัฒนาการช่วยเหลือเฝ้าระวังผู้ป่วยเหล่านี้ให้ได้รับการคัดกรองส่งต่อได้ทันท่วงที ด้วยวิธีสังเกตอาการที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงง่าย ๆ เพื่อให้ญาติและครอบครัวสามารถช่วยกันสำรวจอาการของผู้ที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V Scan) ได้ ด้วย 5 สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง ซึ่งเมื่อพบอาการเหล่านี้ ต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการใช้วิธีสังเกตอาการและบอกต่ออาการเพียงเท่านี้อาจจะไม่เพียงพอในการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีอาการรุนแรง จึงต้องการอาศัยการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การช่วยเหลือและป้องกันความรุนแรงได้ทัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์ม“นครสวรรค์สุขใจ” เป็นแพลตฟอร์มที่มีองค์ประกอบให้เกิดการช่วยเหลือผู้ป่วย SMI-V อันได้แก่ 1.ข้อมูลวิชาการองค์ความรู้ 2.กระบวนการทำงานเชิงรุก ช่วยให้ อสม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินระดับอาการจิตเวชที่อันตรายได้ง่ายและทราบผลจำนวนและระบุผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในชุมชนได้ และยังเพิ่มโอกาสการคัดกรอง ค้นหา และส่งต่อบำบัด ผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่และผู้ที่ติดยาเสพติดที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาจนเกิดอาการทางจิตอันก่อเหตุความรุนแรงได้ การดูแลต่อเนื่องที่ไร้รอยต่อภายใต้การนำของนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่และเป็นต้นแบบการบูรณาการระหว่างกระทรวงมหาดไทย จังหวัดนครสววรรค์และกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยสสจ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ผนึกกำลังกับฝ่ายปกครองของจ.นครสวรรค์และภาคประชาชน ร่วมจัดระบบคัดกรอง ดูแลรักษา ฟื้นฟูและส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด วันนี้การเปิดตึกฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงอาการกำเริบรุนแรงฟื้นคืนสภาพผู้ป่วยให้กลับคืนสู่งสังคมได้ดีขึ้น และลดความแอดอัดของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในหน่วยบริการและโรงพยาบาลในพื้นที่ได้
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจ.นครสวรรค์ กล่าวว่าจากข้อมูลปี2565 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง(SMI-V) ในจ.นครสวรรค์ ทั้งหมด 970 รายซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรง จำนวน 103 รายและยังพบอีกว่ามีอัตราการเกิดความรุนแรงซ้ำร้อยละ 15 ในช่วง 3 เดือนแรก ปี 2566 พบผู้ป่วย SMI-V แล้วทั้งสิ้น 811 ราย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสีแดงที่ก่อคดี (ตามการแบ่งระดับของกระทรวงมหาดไทย) จำนวน 34 ราย คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2566 จากการใช้แพลตฟอร์ม "นครสวรรค์สุขใจ" จะพบผู้ป่วย SMI-V เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า ดังนั้นการใช้แพลตฟอร์มเพื่อเร่งค้นหาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงในชุมชน โดยผู้นำชุมชน อสม. อบต. ตำรวจ พม. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วยการใช้แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง OAS (Overt Aggression Scale) ที่พัฒนาในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ สามารถแบ่งระดับผู้ป่วยเป็น รุนแรงน้อย(เขียว) รุนแรงปานกลาง(เหลือง) และรุนแรงมาก(แดง) เพื่อนำเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาฟื้นฟูตามความรุนแรงของอาการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยของครอบครัวและชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชและผู้ป่วยยาเสพติดอย่างเหมาะสมจะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการกำเริบก่อความรุนแรง โดยต้นแบบการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดของอำเภอเก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ที่พัฒนาการติดตาม ที่มีประสิทธิภาพโดยทีม 5 กัลยาณมิตรได้แก่ อสม. เจ้าหน้าที่รพ.สต. เจ้าหน้าที่รพช.บัดดี้หรือขวัญใจที่ผู้ป่วยไว้ใจและฝ่ายปกครอง ลงเยี่ยมประเมินอาการอย่างสม่ำเสมอ แนะนำให้คำปรึกษาและส่งต่อการักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้จ.นครสวรรค์เห็นความสำคัญ พร้อมสนับสนุนงบประมาณดำเนินการปรับปรุงตึกฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เพื่อจุดประกายพลังสังคมให้มีส่วนร่วมและจังหวัดยังผลักดันระบบการดูแลSMI-V care ผ่านคณะอนุกรรมประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดและคณะกรรมการพชอ. อีกด้วย
นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เดิมรองรับการให้บริการ 94 เตียง เมื่อมีตึกฟื้นฟูฯนี้สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้เพิ่มอีก 31 เตียงรวมเป็น 125 เตียง ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลรองรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 จำนวน 115,202 คน ด้วยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการซับซ้อนยุ่งยากในการรักษา ผู้ป่วยดังกล่าวมักขาดยาและใช้สารเสพติดร่วม หากรับการฟื้นฟูที่เหมาะสมยาวนานเพียงพอจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จะช่วยให้ครอบครัวและชุมชนเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อได้ ทั้งนี้ตึกฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชพร้อมเปิดบริการนี้ ขั้นต้นรับเฉพาะผู้ป่วยชายและมีระยะเวลาการฟื้นฟูอย่างน้อย 30 วัน ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองจากพื้นที่ในกลุ่มสีแดงหรืออาการรุนแรงมากรอเข้ารับการฟื้นฟูฯ 103 คน กรมสุขภาพจิตยังเสริมระบบคัดกรองสำรวจสุขภาพใจประชาชนผ่านเว็ปแอพลิเคชั่น Mental Health Check In (MHCI) ทำให้สามารถรับทราบ ปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจ.นครสวรรค์มีผู้ประเมิน MHCI สะสมแล้ว 309,652 ราย โดยครองสถิสูงสุดอันดับ 1 ในปี 2564 อีกด้วย ภายใต้พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ. 2562 และประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยยาเสพติดแบบบูรณาการไร้รอยต่อด้วยเทคโนโลยีนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ความรุนแรงทั้งกับตนเองและผู้อื่น ทำให้สังคมปลอดภัยได้
มหาดไทย สาธารณสุข ร่วมดูแลสุขภาพจิตและปัญหาความรุนแรง (SMI-V)
**** 29 มีนาคม 2566