Press ข่าววันที่ 31 พฤษภาคม 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 980
โรงพยาบาลสวนปรุง เปิดคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เพิ่มการเข้าถึงการรักษา พร้อมรับมอบผลงานศิลปะบำบัด
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2565) โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เล็งเห็นปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีสูงขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของการเป็นประชากรคุณภาพในอนาคต ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งคลินิกเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภายในโรงพยาบาลสวนปรุง และพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และรวมถึงจิตเวชทั่วไปในพื้นที่สุขภาพเขต 1
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานเปิดงานกล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 156,370 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check-in ในปี 2564 (1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564) พบเสี่ยงซึมเศร้าถึงร้อยละ 36.93 รองลงมาคือมีความเครียดสูง ร้อยละ 31.93 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 25.74 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 6.35 สอดคล้องกับการสำรวจในเขตสุขภาพที่ 1 (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) จำนวน 7,305 ราย พบมีภาวะเสี่ยงซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมามีภาวะความเครียดสูงและเสี่ยงฆ่าตัวตายจากหลากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบจิตใจเด็กรวมถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย จึงทำให้การดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมีความสำคัญ กรมสุขภาพจิตจึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาดูแล ช่วยเหลือ ส่งต่ออย่างเป็นระบบและการเข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสม
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า โรงพยาบาลสวนปรุงได้เปิดให้บริการคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมาตั้งแต่ปี 2546 ให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็ก ช่วงอายุ 6-18 ปี ในเขตสุขภาพที่ 1 โดยครอบคลุมการรักษากลุ่มโรคจิตเวชเด็ก ภาวะซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น ไบโพล่าร์ ออทิสติก และปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ สถิติผู้มารับบริการ ปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนผู้ใช้บริการ 3,423 ราย ปี 2564 จำนวน 3,176 ราย และปี 2565 (ช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงเมษายน 2565) มีจำนวน 2,435 ราย ซึ่งมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มโรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคซึมเศร้า พบมากช่วงอายุ 13-18 ปี รองลงมา คือ โรคสมาธิสั้น และโรคไบโพล่าร์ ซึ่งผู้ป่วยหลายรายจะมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ทั้งกรีดข้อมือ ทุบตีตนเอง กินยาเกินขนาด โดยปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อนฝูง การถูกดุด่า และปัญหาผิดหวังในความรัก ทำให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเองให้บาดเจ็บและคิดฆ่าตัวตาย จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการเปิดบริการคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงบริการบำบัดรักษาตามมาตรฐานอย่างเหมาะสม โรงพยาบาลสวนปรุงจึงได้เปิดคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่งใหม่ขึ้น ณ ชั้น 2 อาคารผู้ป่วยนอกและจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลสวนปรุง โดยมีทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้การบำบัดรักษาร่วมกับทีมสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมทางอารมณ์ สังคม และการนำเทคโนโลยีมาให้บริการ อาทิเช่น การใช้ห้องกระตุ้นประสาทรับความรู้สึก เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาช่วยให้เด็กมีสมาธิที่ดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวคุณแม่สมศรี วังทองคำ รวมถึงการใช้ศิลปะบำบัดโดยการวาดภาพบนฝาผนังทั้งแบบเหมือนจริงและแบบนามธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการใช้หลักการเรื่องการมองเห็นที่นอกจากให้ความงดงามและเกิดสุนทรียภาพแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการศิลปะร่วมสมัยเพื่อสุนทรีภาพในสังคม กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2565
ด้านนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับศิลปินศิลปาธร อาจารย์พรชัย ใจมา อาจารย์เสกสรรค์ สิงห์อ่อน, กลุ่มศิลปินป้ายสี แต้มสี ปันจินตนาการ นำโดยอาจารย์มานิตย์ โกวฤทธิ์ กลุ่มศิลปินจิตอาสา และเยาวชนต้นกล้าศิลปะ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนฝาผนัง นำศิลปะร่วมสมัย (Art Therapy) มาเป็นสื่อจรรโลงใจแก่ผู้รับบริการ โดยภาพความงดงามของธรรมชาติแบบเหมือนจริง (Realistic) ช่วยให้ผู้พบเห็นได้ชื่น รู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ช่วยลดความกังวลและลดความซึมเศร้า ในขณะที่ภาพวาดเชิงนามธรรม (Abstract) ช่วยให้มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) และภาพวาดการ์ตูนตัวโปรดที่น่ารัก สดใส เป็นวีรบุรุษ (Hero) เป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้กับเด็ก ๆ การมองโลกในแง่บวก และความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) โดยได้มอบผลงานศิลปะบนฝาผนัง จำนวน 11 ผนัง และผลงานของศิลปินจิตอาสา จำนวน 66 ผลงาน ให้ไว้ ณ คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสวนปรุง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสวนปรุง จะได้มีการพัฒนาจัดตั้งคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น การพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการบริการรักษา การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 1 เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีจิตใจที่แข็งแรง และเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
*********************** 31 พฤษภาคม 2565