press 25056502

 

กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (WHA75) ภายใต้หัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” ชี้นโยบายประเทศไทยดูแลทั้งสุขภาพกายและจิตใจเพราะ “ความเข้มแข็งทางใจ ทำให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้”

        วันนี้ (28 พฤษภาคม 2565) จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (75th World Health Assembly - WHA75) ในระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2565 ณ ปาเล เด นาซียง ที่ทำการสำนักงานสหประชาชาติ ประจำนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในการพัฒนาอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก หรือพันธกรณี/ข้อตกลงในโลกภายใต้หัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” มุ่งใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฟื้นฟูสุขภาพและการสาธารณสุขจากโลกที่ถูกคุกคามจากความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 นานาประเทศย้ำถึงความสำคัญของสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) เพื่อฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ

        นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข ซึ่งในช่วงแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19รัฐบาลไทยได้ให้การเข้าถึงทั้งการตรวจและการรักษา ให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการดูแลทางจิตใจด้วย โดยมี “ความหวัง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้” ทั้งนี้การสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นหลักการสำคัญของนโยบายการดูแลจิตใจประชาชนของกรมสุขภาพจิต ในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาอีกด้วย

        แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามระดับความเข้มแข็งทางใจของ ประชาชนไทยต่อเนื่อง จากระบบการประเมินผ่าน Mental Health Check In หรือ www.วัดใจ.com ซึ่งเป็น Application Onlineและครอบคลุมประชาชนกว่าสี่หมื่นคนทั่วประเทศ  พบว่า ในช่วงมกราคม ถึง พฤษภาคม 2565 ประชาชน คนไทยมีระดับความเข้มแข็งทางใจดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง มกราคม ถึง ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจระดับต่ำลดลงจากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 2.3 และผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจในระดับสูงขึ้น โดยเพิ่มจากร้อยละ 67.2 เป็นร้อยละ 71.9 ซึ่งผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของประชาชนคนไทยในการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจของแต่ละบุคคลนั้น ได้แก่ องค์ประกอบสำคัญสามข้อคือ การมองโลกในแง่ดีมีความหวัง การมีสัมพันธภาพดีซึ่งทำให้เกิดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตที่ www.dmh.go.th

             ***********************     28  พฤษภาคม 2565