press 2503652

 

กรมสุขภาพจิต ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดินหน้าพัฒนาระบบบริการผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช ในวันดาวน์ซินโดรมโลกปี 2565 พร้อมเชิญชวนสังคมมอบโอกาสให้กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรมในประเทศไทย“นับหนึ่งให้ถึงดาว” 

            วันนี้ (21 มีนาคม 2565) กรมสุขภาพจิตร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดินหน้าประสานความร่วมมือพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตแก่ผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช เนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก ปี 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงศักยภาพของเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม รวมไปถึงให้โอกาสและปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

            พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down's Syndrome Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีองค์การดาวน์ซินโดรมจากทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อต้องการให้สาธารณชนเพิ่มความตระหนัก เห็นความสำคัญ และเข้าใจเกี่ยวกับโรคดาวน์ซินโดรมหรือกลุ่มอาการดาวน์ รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคนี้ในสังคมได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้การพัฒนาเด็กกลุ่มอาการดาวน์ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันได้  ในโอกาสนี้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดำเนินการพัฒนาระบบบริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) สำหรับผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพกายและสุขภาพจิต ลดข้อจำกัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงและมีความยากลำบากในการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ อีกทั้งกรมสุขภาพจิตยังได้จัดเตรียมหลักสูตรการดูแลผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชสำหรับบุคลากร เพื่อดำเนินการอบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานคุ้มครองฯ โดยมุ่งหวังให้บุคลากรในสถานคุ้มครองฯ สามารถดูแลผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านอื่น ๆ เช่น การฟื้นฟูด้านอาชีพ การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดผู้ดูแลโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

            ด้านนางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่ากรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายที่กำหนด โดยคนพิการสามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,107,005 คน หรือร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งหมด  นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการโดยให้คนพิการทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง พก. จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาให้รพ.เป็นศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (OSSC) ในการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ณ สถานพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการคนพิการ ทั่วประเทศ  ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 27 จังหวัด 36 แห่ง และมีแผนขยายผลการให้ บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างน้อยจังหวัดละ 1 โรงพยาบาล ภายในปี 2565  นอกจากนี้ พก.และกรมสุขภาพจิตได้มีการประสานความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ ได้วางแผนเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตแก่ผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานในสังกัดพก. และการอบรมบุคลากรร่วมกับหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

          ด้านพญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการล่าช้า บกพร่องทางสติปัญญาและมีปัญหาสุขภาพกายที่พบบ่อย เช่น ปัญหาสายตา การได้ยิน โรคหัวใจและมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น เป้าหมายสำคัญในการรักษาเด็กกลุ่มอาการดาวน์คือการดูแลบำบัดรักษาให้มีสุขภาพดีและส่งเสริมพัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ การดูแลเด็กกลุ่มอาการดาวน์ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้ปกครอง บุคลากรทางการแพทย์ ครู รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดงานรณรงค์วันดาวน์ซินโดรมโลกในวันนี้จึงมีการเปิดเวทีเสวนาออนไลน์เพื่อพูดคุย พร้อมร่วมตอบคำถามจากประสบการณ์ของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย