Press ข่าววันที่ 15 มีนาคม 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 709
เลขานุการ รมว.สธ. คิกออฟโครงการ “นำวัคซีนมาหาประชาชน” ที่ จ.สระบุรี
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คิกออฟโครงการ “นำวัคซีนมาหาประชาชน” จังหวัดสระบุรี ลงพื้นที่เชิงรุกสร้างวัคซีนใจในชุมชน ชักชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 พร้อมให้บริการ “ตรวจกาย-สำรวจใจ” ในประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ลดผลกระทบจากภาวะ Long COVID
วันนี้ (15 มีนาคม 2565) ที่เทศบาลตำบลหินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 4 และคณะ ร่วมเปิดโครงการ “นำวัคซีนมาหาประชาชน” เพื่อให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในกลุ่ม 608 และสร้างความรู้ความเข้าใจในการรับวัคซีนอย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมบริการ “ตรวจกาย-สำรวจใจ” ในประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เคยติดเชื้อโควิดและมีภาวะ Long COVID ให้ได้รับการช่วยเหลือดูแลจิตใจ จนสามารถกลับไปชีวิตได้อย่างมีความสุข ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ได้ โดยมีบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการจำนวน 600 คน
นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงป้องกันระบบสุขภาพของประเทศ ปกป้องบุคลากรด่านหน้าจากการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยโครงการ “นำวัคซีนมาหาประชาชน” เป็นหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับ เพิ่มกำลังในการให้บริการประชาชนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ผ่านกลไก 3 หมอ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการวัคซีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ส่วนประชาชนบางรายที่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนที่ถูกต้อง ทำให้ปฏิเสธการฉีดวัคซีน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเครื่องมือ MI (Motivation Interviewing) หรือการให้คำปรึกษาแบบโน้มน้าวใจ ด้วยการพูดคุยทำให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของการฉีดวัคซีน จนยอมรับการฉีดวัคซีนได้ในที่สุด
ด้านแพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า โรคโควิด 19 นอกจากผลกระทบทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบทางใจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าประชาชนมีความเครียด มีภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า และมีความคิดทำร้ายตนเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และข้อจำกัดในการปรับตัวต่อวิถี New Normal กรมสุขภาพจิตจึงมีการดูแลจิตใจบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีภาวะ Long COVID โดยประเมินความสุขด้วยเครื่อง Smart Pulse ซึ่งใน จ.สระบุรี ดำเนินการแล้วใน อ.ดอนพุด และ อ.หนองโดน จำนวน 10 คน พบมีความเครียด 4 คน ปกติ 6 คน สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการปฐมพยาบาลทางใจ และมีแผนดำเนินการต่อใน อ.หนองแค อ.วิหารแดง และ อ.หนองแซง ต่อไป
“ผลกระทบทางจิตใจที่มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและทุกระดับ ใช้ทั้งศักยภาพและสายสัมพันธ์ในชุมชนร่วมกันสร้างความรู้สึกปลอดภัยและสร้างความเข้าใจ ให้โอกาสกันและกัน เพื่อนำไปสู่การมีพลังใจที่จะก้าวผ่านวิกฤตการระบาดในครั้งนี้ไปด้วยกัน” แพทย์หญิงอัมพร กล่าว
** 15 มีนาคม 2565