Press ข่าววันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1208
กรมสุขภาพจิต ชูการดำเนินงานเชิงรุกและความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชน ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายปี 2563 ลงต่ำกว่าตัวเลขประมาณการ
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2564) กรมสุขภาพจิตเผยอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประเทศไทยในปี 2563 อยู่ที่ 7.35 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเดิมที่ 8.00 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการร่วมมือของประชาชนในการร่วมดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง รวมไปถึงมาตรการการทำงานเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุขในการลดอัตราการฆ่าตัวตายและเข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในหลายประเทศ กรมสุขภาพจิตเคยทำการศึกษาเพื่อประมาณการอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 และพบว่าจากสภาพของปัญหาการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรงทั่วโลกและแนวโน้มการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากปี 2562 ที่ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี เป็น 8.00 ต่อแสนประชากรต่อปีในปี 2563 ที่ผ่านมา แต่เมื่อรวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างละเอียดแล้วพบว่า ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปี 2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.35 ต่อแสนประชากรต่อปี สูงกว่าปีก่อนเล็กน้อยแต่ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า เมื่อย้อนกลับไปวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเคยผ่านมาก่อน เช่น วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2541 นั้น อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเท่ากับ 8.12 ต่อแสนประชากร และเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังวิกฤต คือ ปี 2542 และ 2543 พบอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 8.59 และ 8.40 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ซึ่งหลังจากนั้นประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มมาตรการ
ในการป้องกันฆ่าตัวตายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยอยู่ที่ 6.00 - 6.60 ต่อแสนประชากรต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในครั้งนี้ ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภายในประเทศยังมีผลกระทบจากทั่วโลกที่ส่งมาถึงประเทศไทยทางอ้อมอีกด้วย อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่ต่ำกว่า 8 ต่อแสนประชากรนั้น เป็นจุดสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของประชาชนด้านสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้น ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตาย และการดำเนินงานผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ส่งตรงไปถึงประชาชนเป็นระยะอย่างได้ผล และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง โดยในช่วงที่ผ่านมาและหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการสำคัญ 3 ประการในการดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง คือ 1.มาตรการเฝ้าระวังผู้มีปัญหา
ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสำรวจจิตใจของประชาชนทั้งประเทศเป็นระยะ ผ่านระบบ Mental Health Check In เพื่อนำความช่วยเหลือไปสู่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง 2.ดำเนินงานต่อเนื่องผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขการฆ่าตัวตายแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือประชาชนแบบบูรณาการทุกกระทรวงทั้งด้าน สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 3.จัดทีมช่วยเหลือประชาชนในระยะวิกฤตทางจิตใจกระจายครบทุกอำเภอ หรือ ทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมและทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าประมาณการที่เคยทำการศึกษาไว้ แต่กรมสุขภาพจิตยังมุ่งลดอัตรานี้ให้ลดลงได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นการสูญเสียที่กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนและคนรอบข้าง
ของผู้เสียชีวิต ทั้งยังเป็นความสูญเสียที่เราช่วยกันป้องกันได้ ทั้งนี้ความเข้าใจและความช่วยเหลือกันของพี่น้องประชาชนจะเป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญในการลดอัตราการฆ่าตัวตายในปีถัดไป โดยกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด หากท่านรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือมีคนรอบข้างที่มีสัญญาณการฆ่าตัวตาย สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
********** 16 กุมภาพันธ์ 2564