Press ข่าววันที่ 25 กรกฎาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 311
กรมสุขภาพจิต ซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่ายด้านวิกฤตสุขภาพจิตและสุขภาพจิตฉุกเฉินทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 , เขตสุขภาพที่ 12 และพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และทักษะเสมือนจริง
วานนี้ (24 กรกฎาคม 2567) กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตแก่บุคลากรทีม (MCATT) กรมสุขภาพจิต ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ทีม Military MCATT ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับตติยภูมิในภาวะฉุกเฉิน (MedicalEmergencyResponse Team: MERT) ทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายกู้ชีพกู้ภัย และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา พร้อมชูประเด็นมหาดไทยพร้อมสนับสนุนผู้มีใจให้โอกาสผู้ประสบภัย สาธารณสุขพร้อมส่งเสริมความรู้คู่ทักษะในการปฏิบัติอย่างครอบคลุม
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง หากผู้ประสบภาวะวิกฤตไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ดังนั้น บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องบริหารจัดการและให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งก่อนที่บุคลากรดังกล่าวจะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นต้องได้รับความรู้ ทักษะ และการฝึกซ้อมเสมือนจริงอย่างเป็นระบบ เพื่อประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่เพียงแต่ระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ นอกระบบสาธารณสุขด้วย เช่น กระทรวงมหามหาดไทย และกระทรวงกลาโหม และเชื่อมั่นว่าการซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการ เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง จึงควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในความร่วมมือในครั้งนี้ คือผู้ที่เข้าร่วมประชุมทุกท่านเพราะสิ่งที่สำคัญไม่ใช่เป็นเพราะหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่ทำให้ทุกท่านต้องดูแลและให้การช่วยเหลือผู้ที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสาธารณภัยต่างๆ เท่านั้น หลักการที่สำคัญที่ทำให้ได้มารวมกลุ่มกันในวันนี้เกิดจากการที่ทุกท่านมีทัศนคติที่ดีและมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยยินดีที่จะเป็นผู้มอบโอกาสและดูแลจิตใจช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยในยามเกิดทุกข์ ส่วนสำคัญในลำดับที่สองคือเรื่องของการให้ความรู้ที่ถูกต้องเพราะถึงแม้ท่านจะมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเกิดความเดือดร้อนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลืออย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือและต่อตนเองด้วย ส่วนที่สามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะเพื่อให้เกิดความพร้อมอยู่เสมอเพราะยิ่งฝึกมากหรือมีการทดลองในสถานการณ์หลากหลายรูปแบบอยู่เป็นประจำความผิดพลาดย่อมไม่เกิดขึ้นและการช่วยเหลือก็จะมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่า การนำรูปแบบการจัดกิจกรรมซ้อมแผนรูปแบบเสมือนจริง และการจำลองสถานการณ์หลากหลายรูปแบบมาใช้ในครั้งนี้จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะต้องการให้ผู้รับการอบรมได้เข้าใจในสถานการณ์และวิธีการหน้างาน และเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะร่วมกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการซ้อมแผนในวันนี้นอกจากจะเป็นบุคลากรทีม (MCATT) กรมสุขภาพจิต ต้องขอขอบคุณ ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับตติยภูมิในภาวะฉุกเฉิน (MedicalEmergencyResponse Team: MERT) และ Military MCATT ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายกู้ชีพกู้ภัย และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ถือเป็นการซ้อมแผนแบบไร้รอยต่อที่จะสร้างความร่วมมือและความเชื่อมั่นในทีมและองค์กร ปรับความรู้สึกให้ทุกคนเข้าใจบทบาท และความรับผิดชอบของตนเองในกรณีฉุกเฉินช่วยในการพัฒนาทักษะและความชำนาญของบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ที่เป็นไปได้ ช่วยให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญและความมั่นใจในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานในสถานการณ์ที่สมจริง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ยั่งยืนต่อไป
*******************************
25 กรกฎาคม 2567