Press 180767 ทีมMIT2

 

 

กรมสุขภาพจิต จัดโครงการพัฒนานักสื่อสารสารสุขภาพจิตในเจตสุขภาพที่ 3 / 4 และ 13 พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชผ่าน เก้าเลี้ยวโมเดล มุ่งเป้าการสื่อสารการบริการเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานสุขภาพจิตด้วยบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ

            วานนี้ (17 กรกฎาคม 2567) กรมสุขภาพจิต ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team
เขตสุขภาพที่ 3,4 และ 13 พร้อมย้ำแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้โดยชะลอข่าวร้าย ขายข่าวดี ไปสู่ประชาชน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการผ่านเก้าเลี้ยวโมเดล ชูการทำงานร่วมกันเพื่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

            นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะ 3 - 4 ปี ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งการที่ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บุคลากรทุกระดับมีเป้าหมายในการที่จะช่วยเหลือและดูแลตนเอง พร้อมที่จะเป็นเพื่อน และช่วยเหลือให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความต้องการที่จะเข้าถึงเรื่องของสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น จากการสื่อสารที่รวดเร็วและไร้พรมแดน สถานการณ์ความรุนแรงวิกฤตสุขภาพจิตสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในทางบวก และทางลบ หากขาดการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินงานสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการชะลอเรื่องร้ายและกระจายข่าวดี การพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การดูแลสุขภาพจิตคนไทยมาโดยตลอด โดยนอกเหนือจากการเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤติสุขภาพจิต การให้ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต เพื่อประชนได้รับความรู้สุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารสุขภาพจิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการส่งต่อข้อมูลความรู้สุขภาพจิตไปยังประชาชน การที่จะทำให้ความรู้เหล่านั้นเป็นที่ยอมรับและติดตาม เป็นสิ่งที่กรมสุขภาพจิตยังต้องการการสนับสนุน และต้องการที่จะให้ความรู้สุขภาพจิตที่ถูกต้องส่งต่อไปยังประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน

            แพทย์หญิงจิตติมา  แกล้วทนง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายเพื่อการสื่อสารสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ได้มีหน่วยงานพื้นที่ระดับจังหวัด และอำเภอของกรมประชาสัมพันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และสื่อท้องถิ่น ร่วมเป็นเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งนี้เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเกิดกลไกการสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต สำนักความรอบรู้สุขภาพจิต จึงจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต Mental Influence Team (ทีม MIT) โดยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างข่าวดีและการสื่อสารสถานการณ์วิกฤติในระดับพื้นที่ เพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต และเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจากการสื่อสารที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบัน เกิดกลไกในการพัฒนาเครือข่ายที่ยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะในการคัดเลือก เข้าถึง และสร้างสรรค์สื่อเพื่อการสื่อสารและส่งเสริมสุขภาพจิตมีทักษะการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติในระดับพื้นที่และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสื่อสารสุขภาพจิต

            นางเดือนเพ็ญ  ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า การสื่อสารในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินการบูรณาการร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ เพราะทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันการที่ประชาชนจะมีสุขภาพกายและใจที่ดีไปพร้อมกันซึ่งนอกเหนือจากการเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันแล้ว การสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนผ่านการสื่อสารผลการให้ข้อมูลการบริการหรือต้นแบบที่ดี ย่อมเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อการบริการและผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูได้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการและเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ลดปัญหาการถูกตีตราและได้รับโอกาสจากทางสังคม โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายอนุศักดิ์ พิริยะอมร นายอำเภอเก้าเลี้ยว นำทีมในการให้ข้อมูลแก่นักสื่อสารสุขภาพจิต ในการนำเสนอกระบวนการจัดการระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการในพื้นที่อีกด้วย

            นายอนุศักดิ์ พิริยอมร นายอำเภอเก้าเลี้ยว กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก หลังจากได้มีการตรวจสอบสุขภาพจิตของประชาชนในนครสวรรค์พบว่า จำนวนประชากร 1 ล้านกว่าคนเป็นผู้มีปัญหาทางจิตราว 4 หมื่นราย ใน 4 หมื่นรายนี้มีผู้ป่วยที่ว่าถึงขั้นรุนแรงก็คือทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นเกือบ 1 พันราย และมีผู้ที่อาการหนักถึงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชประมาณ 1 ร้อยกว่าราย ทางอำเภอเก้าเลี้ยวจึงได้มีการรวมตัวกันในรูปแบบที่เรียกว่า เก้าเลี้ยวโมเดล โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตั้งแต่นายอำเภอ ตำรวจ โรงพยาบาล สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน กลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า 5 กัลยาณมิตร เข้าไปคอยดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา ดูแลเรื่องการรับประทานยา การพักผ่อน การพูดคุย ช่วยเหลือทางด้านจิตใจของผู้ป่วย เก้าเลี้ยวโมเดลเป็นการทำงานของทุกภาคส่วนจึงต้องทำงานโดยมีระบบข้อมูลร่วมกัน ผ่านแอปพลิเคชันชื่อว่า นครสวรรค์สุขใจ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและมีการนำข้อมูลส่งต่อเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วยและติดตามผลของการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

********************

 18 กรกฎาคม  2567