Press ข่าว 23 มิถุนายน 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 805
กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ สสส. จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาแบบองค์รวม พร้อมบูรณาการเชิงรุกเพื่อแรงงานไทย Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข
วันนี้ (23 มิถุนายน 2565) กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ สสส. จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบองค์รวมฯ พร้อมเสริมพลังภาคีเครือข่ายพัฒนามาตรการนโยบายและระบบสนับสนุนเครือข่าย HR เพื่อช่วยเหลือและมีทักษะในการให้คำปรึกษา พร้อมแนะนำหาทางออกทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงินให้กับพี่น้องแรงงาน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2564 ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประมาณ 15 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของกลุ่มผู้มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องแรงงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ ด้วยสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเงินรวมไปถึงสถานการณ์ทางจิตใจ ถึงแม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีพี่น้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอีกไม่น้อยที่ยังประสบปัญหาทั้งทางกายและทางจิตใจ ทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียการงาน เกิดปัญหาหนี้สิน มีความเครียดและกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวังหมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย การช่วยเหลือโดยการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองและเป็นกลไกที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งบุคคลสำคัญในกลุ่มของพี่น้องแรงงานไทยก็คือ “เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบกิจการ” มีบทบาทเป็นคนกลางที่จะเชื่อมโยง ส่งผ่านความหวัง ความห่วงใย ความปรารถนาดี ไปถึงกลุ่มวัยทำงาน ให้สามารถจัดการความเครียด มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลัง ความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตไปได้ โดยตอนนี้ได้มีการพัฒนาและขยายกลุ่มเครือข่ายที่สามารถให้คำปรึกษาแบบองค์รวม (Holistic Health Advisor) ทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานและประชาชนทั่วไป ให้สามารถ Move on ได้ด้วยกายใจเป็นสุข
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มีนโยบายการดำเนินงาน ในแผนสร้างเสริมสุขภาพจิต กำหนดทิศทางสร้างเสริมและป้องกันเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี จึงร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 กรมสุขภาพจิต ดำเนินการโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงินแรงงาน พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อเป็นผู้ส่งต่อความรู้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานประกอบกิจการ โดยต่อยอดมาจากความร่วมมือกับสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก “การสร้างสุข ลดทุกข์” สำหรับแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีต้นแบบ 6 แห่ง ในจังหวัดระยองและชลบุรี ถือเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ ที่จะขยายผลในสถานประกอบการตัวอย่าง 31 แห่ง ครอบคลุม 8 เขตสุขภาพ สามารถยกระดับกลุ่ม HR เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แรงงานไทยมีสุขภาพกายใจเป็นสุข ทั้งนี้ มีเป้าหมายขยายผลสู่ต้นแบบการดำเนินงานร่วมกับศูนย์สุขภาพจิต เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป นายสุทธิพงศ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือ และการให้ความรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติแรงงาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ในการฝึกอบรม ดำเนินการจัดฝึกอบรม มอบวุฒิบัตรเพื่อเป็นหลักฐานการผ่านการฝึกอบรม ตลอดจนนำผู้ผ่านการฝึกเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาอาชีพที่มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีมากกว่า 200 สาขาอาชีพ เพื่อการันตีทักษะ ความรู้ความสามารถ เป็นไปตามที่มาตรฐานฝีมือกำหนด ซึ่งกระบวนทำงานดังกล่าวกรมจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และเช่นเดียวกัน หลักสูตร เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมจัดทำ เพื่อกำหนดหัวข้อ เนื้อหาที่จำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการ โดยโครงสร้างหลักสูตรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และใช้เป็นหลักสูตรกลางที่หน่วยงานใดๆ ก็สามารถนำไปใช้เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมได้ นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 สามารถนำหลักสูตรนี้ไปใช้ในการฝึกอบรม พร้อมยื่นรับรองการจัดอบรม ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ด้วย
*** 23 มิถุนายน 2565