Press ข่าววันที่ 25 มีนาคม 2568
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 45
กรมสุขภาพจิต มุ่งสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพจิตและป้องกันยาเสพติดในชุมชน ขับเคลื่อนร่วมกับ สาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศ หวังลดความรุนแรงในชุมชน ในสถานพยาบาล และลดการทำร้ายตัวเองในเยาวชนไทย
วานนี้ (24 มีนาคม 2568) กรมสุขภาพจิตจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดระดับอำเภอ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบนโยบายเน้นชูการพัฒนาและ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัด ยกระดับการบำบัดรักษามินิธัญญารักษ์และชุมชน ล้อมรักษ์โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน
นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติดเป็น นโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องเริ่มต้นจากการป้องกันนักเสพและผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มบริการให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด และติดตามมารับการรักษาต่อเนื่อง ป้องกันการกำเริบและก่อความรุนแรงซ้ำ สามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับอำเภอที่สามารถเข้าถึงประชาชน ได้โดยตรง โดยในปี 2567 การทำงานร่วมกับชุมชนในโมเดล "ชุมชนล้อมรักษ์" ครอบคลุม 727 อำเภอจากทั้งหมด 878 อำเภอ ช่วยดูแลผู้ป่วยได้กว่า 50,000 คน
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ความรุนแรงที่สำคัญ 3 กลุ่มที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไข คือ 1) ความรุนแรงต่อผู้อื่นในชุมชน โดยข้อมูลข่าวความรุนแรงในปี 2567 พบว่า ผู้ก่อเหตุความรุนแรงในข่าวเกิดจากโรคจิตเวชหรือสารเสพติดร้อยละ 40 ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ป่วยหรือผู้เสพที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งต้องเน้นการค้นหา เฝ้าระวังและนำตัวเข้าสู่การรักษากลุ่มที่สอง คือ ผู้ป่วยหรือผู้เสพที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาแล้ว แต่ไม่เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทำให้อาการกำเริบซ้ำ ซึ่งทั้งสองกลุ่ม สาธารณสุขอำเภอในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชอ) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการค้นหา เฝ้าระวังและติดตาม 2) ความรุนแรงต่อตนเองในเยาวชน ในช่วงหลังโควิด-19 พบเยาวชนเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองสำเร็จของเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีระบบสุขภาพจิตโรงเรียน School Health HERO ที่ช่วยค้นหาและป้องกันกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่การช่วยเหลือได้ แต่ยังนำไปใช้เพียง 1 ใน 5 ของโรงเรียนทั้งหมด หาก พชอ ร่วมขยายผลให้เข้าถึงโรงเรียนทั้งหมด จะช่วยลดอัตราการทำร้ายตนเองของเยาวชนได้ 3) ความรุนแรงในสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างปลอดภัย โดยไม่ถูกคุกคามหรือทำร้ายไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด แม้แต่ในภาวะสงคราม โรงพยาบาลก็ยังเป็นจุดยกเว้นห้ามโจมตี การป้องกันแก้ไขจึงต้องดำเนินการตั้งแต่ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ รับมือขณะเกิดเหตุ และฟื้นฟูแก้ไขหลังเกิดเหตุ
“ความรุนแรงในสังคมไทย ป้องกันได้ด้วยความร่วมมือของชุมชน”
********************
25 มีนาคม 2568