Press240368

กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญของสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ชี้การให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัดและชุมชนล้อมรักษ์ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงไร้รอยต่อ

         วันนี้ (24 มีนาคม 2568) กรมสุขภาพจิตจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดระดับอำเภอ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบนโยบายเน้นชูการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัด ยกระดับการบำบัดรักษามินิธัญญารักษ์และชุมชนล้อมรักษ์โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน

         นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยมุ่งเน้น 3 มาตรการหลัก คือ 1.พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัด 2.ยกระดับการบำบัดรักษามินิธัญญารักษ์และชุมชนล้อมรักษ์ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด และ 3.การตั้งกรมสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด เป้าหมายสำคัญ คือ การให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ป้องกันภาวะป่วยทางจิต รวมถึงให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับอำเภอที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรงกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการ "ชุมชนล้อมรักษ์" ครอบคลุม 727 อำเภอจากทั้งหมด 878 อำเภอ และมีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ต่อไป

         นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิต ยาเสพติด และความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลปี 2567 พบว่า กว่าร้อยละ 40 ของผู้ก่อเหตุความรุนแรงเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือสารเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัย ระบบเฝ้าระวัง การบำบัดฟื้นฟู และการติดตามดูแลที่ครอบคลุม โดยเน้นความร่วมมือจากครอบครัว ชุมชน และภาคีเครือข่าย โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีภาวะรุนแรงทั้งผู้ป่วยที่อยู่ในระบบและผู้ที่ยังอยู่ในชุมชนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบผ่านกลไก พชอ. ซึ่งมีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานในระดับอำเภอได้รับการบูรณาการอย่างครอบคลุมในระดับพื้นที่ ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดประชุมในครั้งนี้ได้แก่ 1.เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดในระดับอำเภอ 2.เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ทุกภาคส่วน มีความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ สามารถให้การดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและสารเสพติดแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร และความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพจิตระดับอำเภอ ประกอบด้วย 1.ศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจิตเวช และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ รวม 340 แห่ง โดยมีทีม MCATT เป็นผู้ดำเนินงาน 2.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักให้คำปรึกษาสุขภาพจิต จำนวน 15,000 คน (2คน/PCU) ซึ่งผ่านการฝึกอบรมทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น และ 3.ชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูสังคมในกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัว พร้อมทั้งป้องกันการเกิดนักเสพหน้าใหม่ในชุมชน พร้อมกันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดความรุนแรงในโรงพยาบาลรวมถึงสถานพยาบาลต่างๆ การออกมาตรการตั้งแต่การรับมือ ก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ โดยแม้จะมีเหตุการณ์หรือมีสถานการณ์เป็นเช่นไรก็ไม่มีเหตุผลและไม่มีสิทธิ์ในการที่จะทำร้ายบุคลากรที่ให้บริการทางการแพทย์

         กรมสุขภาพจิตมุ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

********************

24 มีนาคม 2568