Press ข่าววันที่ 18 เมษายน 2568
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 197
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยกรณีเด็กใช้ความรุนแรง เน้นย้ำ “การเลี้ยงดูเชิงบวก” คือกุญแจสำคัญของการป้องกันและแก้ไข
วันนี้ (18 เมษายน 2568) กรมสุขภาพจิต ขอแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงในเยาวชนที่เกิดขึ้น และขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริม “การเลี้ยงดูเชิงบวก (Positive Parenting)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพจิต และพฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ในยุคที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์กรณีเด็กชายอายุ 11 ปี ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี แสดงพฤติกรรมรุนแรงโดยใช้อาวุธมีดข่มขู่สมาชิกในครอบครัวจากปัญหาความขัดแย้งภายในบ้าน ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องเข้าระงับเหตุ และนำตัวเข้ารับการดูแลทางการแพทย์เบื้องต้นนั้น ปัจจุบันปัญหาการแสดงพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก เช่น การใช้กำลัง การแสดงออกทางวาจารุนแรง หรือการทำร้ายผู้อื่น กลายเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเด็กผู้กระทำการนั้นมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมรุนแรงนั้นมีทั้งภายในตัวเด็กเองและจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว อาทิ ภาวะขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ รวมถึงการได้รับประสบการณ์เชิงลบจากครอบครัวหรือสื่อที่รุนแรง เช่น เกมและภาพยนตร์ ซึ่งเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการควบคุม มักจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว และอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงหรือปัญหาทางสุขภาพจิตในระยะยาว
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ซึ่งการเลี้ยงดูเชิงบวกจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และพฤติกรรมของเด็กให้ห่างไกลจากความรุนแรงได้ โดยหลักการสำคัญของการเลี้ยงดูเชิงบวก ได้แก่ การสื่อสารอย่างเข้าใจ โดยไม่ตำหนิหรือใช้อารมณ์ การเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกทางความรู้สึกอย่างปลอดภัย การสนับสนุนและปลอบโยนเมื่อเผชิญความเครียดหรือความผิดหวัง การวางขอบเขตอย่างมีเหตุผล โดยหลีกเลี่ยงการลงโทษทางร่างกาย การเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการควบคุมอารมณ์และการจัดการปัญหา เป็นต้น การส่งเสริมการเลี้ยงดูที่เข้าใจและเห็นคุณค่าของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ครอบครัวที่อบอุ่นและใช้แนวทางการเลี้ยงดูเชิงบวก จะเป็นเกราะป้องกันทางใจที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้เด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์ พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมเหตุการณ์
จนนำมาซึ่งผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
หากประชาชนพบว่าสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความโกรธรุนแรง ความเครียดสะสม พฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สามารถขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
********************
18 เมษายน 2568