PTSD โรคเครียดภายหลังภยันตราย
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 5970
PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
โรคเครียดภายหลังภยันตราย
โรคเครียดภายหลังภยันตราย เช่น ภัยพิบัติ การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม เป็นต้น ซึ่งคนที่ต้องเผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา
อาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD
ระยะที่หนึ่ง (1 เดือนหลังเจอเหตุการณ์) เราจะเรียกว่าระยะทำใจ หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียดแล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้
ระยะที่สอง (มากกว่า 1 เดือน) มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ
1. เห็นภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง
2. อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้
นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว
3. พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
4. มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- คนที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายตอนเด็กๆ
- คนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ
- คนที่ชอบพึ่งพาคนอื่นมาโดยตลอด ไม่พยายามช่วยเหลือตนเอง
- คนที่มีอาการทางจิตเวชเป็นทุนเดิม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล
- คนที่อายุน้อยไม่มีประสบการณ์ คนอายุมากที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว
- ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย
แนวทางการรักษา มีดังนี้
- ยอมรับตัวเอง ไม่ต้องกลัวการรักษาหรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคจิตเวชร้ายแรง ไม่ว่าใครที่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ต้องเครียดด้วยกันทั้งนั้น
- ทำจิตบำบัดในเชิงพฤติกรรมบำบัด เช่น ให้เผชิญกับสิ่งที่หวาดกลัว เหตุการณ์ที่เคยหวาดกลัว ให้คนไข้ได้ปรับตัว หาทางที่จะควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
- ฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ วิธีการเบี่ยนเบนความคิดเมื่อเราคิดหมกมุน
- ทำกลุ่มบำบัด โดยนำบุคคลที่เคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาพบกัน แล้วร่วมแชร์ความรู้สึกประสบการณ์ เหมือนมีเพื่อนคอยรับฟังความคิดเห็นของเรา เพื่อให้เผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ดีขึ้น
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง