Press 020167

 

กรมสุขภาพจิต ร่วมดำเนินการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในหอผู้ป่วย รพ.สุรินทร์ พร้อมเตรียมการร่วมทบทวนแผนการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะรุนแรง

        เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตร่วมส่งทีม MCATT จากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ประสานงานทีมสุขภาพจิตโรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลจอมพระ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในหอผู้ป่วยโรงพยาบาลสุรินทร์ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยและญาติ เจ้าหน้าที่ ตำรวจ และญาติผู้เสียชีวิต พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำวิธีผ่อนคลายความเครียด และติดตามสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง พร้อมยังมีแผนทบทวนการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพฤติกรรมรุนแรงในเดือนมกราคม 2568 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย

       นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลสุรินทร์ กรมสุขภาพจิตจึงได้ประสานงานเพื่อร่วมส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อเข้าไปประเมินและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงให้ติดตามในการวางแผนให้ความช่วยเหลือในระยะยาว เพื่อฟื้นฟูจิตใจและลดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตตามความต้องการของพื้นที่ ซึ่งจากการประสานงานการดำเนินการต่อเหตุการณ์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ โดย นายแพทย์ชวมัย สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ แจ้งว่า ทีม Mcatt โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลจอมพระ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ได้มีการแบ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 4 กลุ่ม โดย กลุ่ม 1 ผู้ป่วยและญาติ กลุ่ม 2 เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน กลุ่มที่ 3 ตำรวจ และกลุ่มที่ 4 ญาติผู้เสียชีวิต ทีม Mcatt โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลจอมพระ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ผ่านการประสานเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ติดตามเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป  

      นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ซึ่งสิ่งที่ต้องร่วมกันดำเนินการคือการทบทวนแผนปฎิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพฤติกรรมรุนแรง ทั้งอาการกลุ่มโรคทางจิตเวช กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติดหรืออยู่ในภาวะติดสุรา ต้องทำการเฝ้าระวังไม่ให้ขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่การเฝ้าระวังภาวะขาดสุรา (Alcohol Withdrawal Syndrome) เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มสุราอย่างต่อเนื่องในปริมาณมากและหากหยุดดื่มทันที อาการมักเริ่มภายใน 6-12 ชั่วโมงหลังหยุดดื่มสุรา และมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับการดื่มสุราและสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้อาการ เช่น ตัวสั่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ชัก ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น จนถึงหงุดหงิดง่าย และหากอาการรุนแรง ส่งผลให้มีอาการประสาทหลอนรุนแรงและสับสน หรือเพ้อ การขาดสุราอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการส่งทีม MCATT โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เข้าไปร่วมกันวางแผนดำเนินการในการเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หอผู้ป่วย โรงพยาบาลสุรินทร์ ในระยะต่อไป พร้อมทั้งได้กำหนดแผนการสนับสนุนการทบทวนแผนปฎิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพฤติกรรมรุนแรงที่โรงพยาบาลสุรินทร์ วันที่ 28 มกราคม 2568 โดยคาดว่าจะมีบุคลากรจากโรงพยาบาลสุรินทร์และโรงพยาบาล ใกล้เคียง เข้าร่วม ประมาณ 150 คน

********************

 5 มกราคม 2568