Press 131167

 

กรมสุขภาพจิต ชี้สังคมสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายด้วยการใช้หลักการ 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยงเพื่อยับยั้งการสูญเสียที่ไม่อาจย้อนกลับได้

        วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2567) ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ กรมสุขภาพจิต โดย ทีม MCATT โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ลงพื้นที่เยียวยาใจจากเหตุนักเรียนตกจากอาคารเรียนในโรงเรียนดัง จ.นครราชสีมา พร้อมเน้นย้ำสื่อสารสังคมเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังสัญญาณเสี่ยงจากความเครียด หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่มีผลต่อการก่อความรุนแรง หรือการทำร้ายตนเอง

        นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุดังกล่าว นอกจากการลงปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ อยากขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันการสังเกตความเสี่ยงจากพฤติกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย และการทำร้ายตัวเองบนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถทำได้โดยระวังสัญญาณบางอย่างที่มักปรากฏอยู่ในโพสต์ ข้อความ และรูปภาพของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้า ความเครียด หรือความคิดอยากทำร้ายตัวเอง เช่น 1. ข้อความเกี่ยวกับการสิ้นหวังหรือหมดหนทาง ได้แก่ ข้อความที่พูดถึงความรู้สึกท้อแท้ การพูดถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่า 2. ข้อความที่พูดถึงความตาย การอยากหลบหนี หรืออยากจบชีวิต โดยการแสดงออกถึงความคิดที่อยากทำร้ายตัวเอง โดยอาจมาในรูปของการเล่าหรือแสดงภาพรอยบาดแผล หรือการทำร้ายตัวเองทางกายภาพ 3. สัญญาณภายในรูปภาพหรือเนื้อหาอื่นๆ โพสต์รูปภาพที่สื่อถึงความเศร้า หรือมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการสิ้นหวัง เช่น ภาพท้องฟ้ามืด ภาพน้ำตา หรือภาพที่เกี่ยวข้องกับความตาย หรือการใช้คำพูด ลักษณะการสื่อสารที่เปลี่ยนไปอย่างมาก หากบุคคลมีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น โพสต์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง การแสดงความเศร้ามากกว่าปกติ หรือการใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือการแสดงออกถึงความเจ็บปวดอย่างชัดเจน 4. การแสดงออกว่ากำลังแยกตัวออกจากสังคม ข้อความที่กล่าวถึงการแยกตัว ความรู้สึกว่าไม่มีใคร หรือมีเนื้อหาสะท้อนถึงความเจ็บปวดอย่างลึกซึ้ง บ่งบอกถึงความสิ้นหวัง 5. การเขียนข้อความที่เหมือนเป็นการบอกลาหรือการอำลา การขอบคุณคนที่อยู่ในชีวิต หรือเขียนข้อความสรุปความรู้สึกในชีวิตที่เหมือนการปิดฉาก เช่น "ขอบคุณที่เคยอยู่เคียงข้าง" หรือ "ขอโทษสำหรับทุกอย่าง"

        นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีก ทั้งนี้การช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความเข้าใจ และการสนับสนุนที่เหมาะสม ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ ด้วยการใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง กล่าวคือ สอดส่อง มองหา (Look) มองส่องตนเองและคนใกล้ชิด ค้นหาสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่า อยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ การรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจ และกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง และ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ภายหลังการให้ความช่วยเหลือจิตใจเบื้องต้นตามความเหมาะสมและสถานการณ์ หากไม่ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันดูแลส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมกับบุคลากรสุขภาพจิตที่สถานบริการใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ต่อไป นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 2563
กรมสุขภาพจิต กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ Social Influencer ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า Drama-addict และ แหม่มโพธิ์ดำ ได้จัดตั้ง “ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย” หรือ HOPE Task Force อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีสัญญาณเสี่ยง ต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที สามารถเป็นสื่อกลางในการดูแลและป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกช่องทางหนึ่งอีกด้วย

********************

13 พฤศจิกายน 2567