Press 021067

 

 

“อธิบดีกรมสุขภาพจิต” เผย “สมศักดิ์” สั่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ต่อเนื่อง หลัง “นายกฯ แพทองธาร” ห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจครอบครัว พร้อมเน้นสื่อสารเข้าใจง่าย ชี้ ไม่เพียงเยียวยาญาติ แต่รวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวด้วย ส่วนเยียวยาน้ำท่วม จิตแพทย์ ตรวจแล้ว 40,268 ราย พบเครียด1,501 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 36 ราย กำชับ เฝ้าระวังใกล้ชิด       

        วันนี้ 2 ตุลาคม 2567 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการในที่ประชุมให้กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมาก พร้อมได้ฝากชื่นชมทีม MCATT ที่ได้นำทั้ง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ทันที รวมถึงส่งทีมไปยังจังหวัดอุทัยธานี เพื่อดูแลสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย โดยนายสมศักดิ์ ยังได้แนะนำให้กรมสุขภาพจิต สื่อสารการดูแลสภาพจิตใจอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าใจและปฎิบัติตามได้ เพราะการเยียวยาไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสาร แล้วเกิดอาการเศร้าอย่างรุนแรงด้วย 

        นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า รมว.สาธารณสุข ยังได้เน้นย้ำให้ทีม MCATT ของกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ที่เห็นถึงความสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนหลังน้ำลดด้วย โดยกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการส่งจิตแพทย์ ทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาฟื้นฟูจิตใจประชาชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แบ่งแผนการดำเนินการเป็น 3 ส่วน ตามระยะของผลกระทบ คือ 1.พื้นที่น้ำลดแล้ว มีการประเมินสุขภาพจิตโดยทีม MCATT จำนวน 40,268 ราย พบความเสี่ยงต่อภาวะเครียด จำนวน 1,501 ราย เสี่ยงซึมเศร้า จำนวน 215 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 36 ราย และให้การปฐมพยาบาลทางใจ ครบ 100% รวมถึงมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ในระยะหลังได้รับผลกระทบ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน จนกว่าจะไม่พบความเสี่ยง

         นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า 2.พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย มีการติดตามเฝ้าระวังเคสที่มีการสูญเสียไปแล้ว 400 ราย ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจำนวน 13 ราย ซึ่งทั้งหมดมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิต ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต ในพื้นที่อำเภอแม่สาย รวมถึงยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างพลังใจจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติด้วย และ 3.สำหรับพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์ ได้จัดทีม MCATT นำโดยจิตแพทย์ เข้าไปร่วมดูแลทั้งโรงพยาบาลสวนปรุง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และโรงพยาบาลธัญญาลักษณ์เชียงใหม่ เข้าประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเยียวยาจิตใจต่อไป

********************

(2 ตุลาคม 2567)