Press ข่าววันนี้ 28 กันยายน 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 244
กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสจ.เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย ห่วงใยพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุข จัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ อสม.และเยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม เขตชุมชนเมือง
วานนี้ (27 กันยายน 2567) กรมสุขภาพจิตเปิด “กิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ อสม.และเยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม” มีความห่วงใยพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุข นครเชียงราย ซึ่งเป็นทั้งผู้ประสบภัย และผู้ที่ต้องเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย กรมสุขภาพจิต จึงประสานความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ เทศบาลนครเชียงราย จัดกิจกรรมเติมพลังใจและลงพื้นที่ร่วมกับแกนนำชุมชน และ อสม.เยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้ประสบอุทกภัยเขตเทศบาลนครเชียงราย ณ ชุมชนฝั่งหมิ่น เทศบาลนครเชียงราย
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เสียสละ ทำงานด้วยความเป็นจิตอาสา ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นวงกว้าง อสม.จึงเป็นกลไกในชุมชนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือให้ประชาชนได้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี กรมสุขภาพจิต ได้จัดทีมปฏิบัติการ MCATT ลงพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ตั้งชุดปฏิบัติการ “เคาะประตูบ้าน” โดยมีทีม อสม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เชิงรุกเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัยให้ได้รับการดูแลด้านจิตใจทันที แต่ทว่า อสม.เองซึ่งอยู่ในชุมชนที่เกิดเหตุอุทกภัยเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบ และต้องเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งถือว่า อสม. ต้องทำงานอย่างหนักในพื้นที่มาตลอดกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลอาจเกิดความเครียด รู้สึกหงุดหงิดและเหนื่อยล้า วิตกกังวล การกิน การนอนผิดปกติ หรือมีภาวะหมดไฟได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีม อสม.ต้องคอยสับเปลี่ยนกันหมุนเวียนกันในการทำงาน เพื่อเติมพลังใจเสริมพลังกายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลจิตใจประชาชนได้อย่างเต็มกำลัง
ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวว่า การดูแลจิตใจตนเองของ อสม.เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในการช่วยเหลือคนในชุมชน การสร้างพลังใจ คือ กำลังใจที่ดีซึ่งสร้างได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น มองสิ่งที่ดีและมองข้อดีของตนเอง สร้างความรู้สึกขอบคุณ ทบทวนสิ่งดีๆในชีวิต ช่วยเหลือผู้อื่นให้เป็นสุข ยิ้มไว้เสมอ ชื่นชมตัวเอง รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในตนเองในการเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ อสม.ได้มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แม้ว่าบ้านของตัวเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น การสร้างเสริมพลังใจให้กับ อสม.จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ อสม. มีพลังใจที่เข้มแข็งในท่ามกลางความกดดันและสถานการณ์ที่ยากลำบาก อสม.ยังสามารถค้นหาความสุขได้ แม้จะเป็นความสุขที่ไม่ใช่สุขสบาย แต่เป็นความสุขในรูปแบบที่เกิดจากการมีคุณค่าในการได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำในการเฝ้ารังและป้องกันผู้อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิต ควรใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ ส.1 สอดส่องมองหา โดยการสังเกตคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น นอนไม่หลับ เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน เบื่ออาหาร ส.2 ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอด และ ส.3 ส่งต่อเชื่อมโยง หากยังไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อเชื่อมโยงสาธารณสุขในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
********************
(28 กันยายน 2567)