Press 150867 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สูงอายุ

 

 

กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตผู้สูงอายุ การพัฒนาสู่อนาคตภายใต้แนวคิด “Soft Skills : สร้างคุณค่าผู้สูงอายุไทย ในศตวรรษที่ 21”           

            วันนี้ (15 สิงหาคม 2567) กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ร่วมกับสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตผู้สูงอายุ “Soft Skills : สร้างคุณค่าผู้สูงอายุไทย ในศตวรรษที่ 21” พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ปัญหาและปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้น พร้อมชูประเด็นผู้สูงวัยมีความสุขและเป็นคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังในสังคม

            นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น การดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพจิตที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสุขภาวะทางใจ (well-being) และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสังคม ซึ่งสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญในระบบสาธารณสุข เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจัยที่หลากหลายทั้งจากผู้สูงอายุเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน โดยเฉพาะการจัดระบบการบริการสุขภาพจิตในผู้สูงอายุยังมีช่องว่างที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตได้รับการดูแลป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถของบุคลากรผู้ดูแลและระบบดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ดำเนินงานด้านสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทักษะต่างๆ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะทำให้เกิดการกำหนดทิศทางหรือแผนพัฒนาสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพทันต่อยุคสมัย

            นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสร้างความรอบรู้เพื่อพัฒนาสุขภาพจิตผู้สูงอายุมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายด้าน เช่น การสูญเสียคนรัก การลดลงของความสามารถทางร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่ความเหงา ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น การให้ความรู้และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจึงเป็นวิธีการที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การพัฒนาการสร้างความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพจิตแก่ผู้สูงอายุและผู้ดูแล ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้ครอบครัวและผู้ดูแลสามารถให้การสนับสนุนที่เหมาะสมและทันเวลา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข ดังนั้นการพัฒนาความรอบรู้และบทบาทในการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีความหมาย มีสุขภาพจิตที่ดี และสามารถเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขและเป็นคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังในสังคม

            นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วนี้ ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน จำนวนผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 10-20 ของประชากร โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียวหรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสาเหตุสำคัญมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ความรู้สึกเหงาและว้าเหว่ วิตกกังวลว่าจะไม่มีคนดูแลยามเจ็บป่วย ทุกองค์กรของประเทศจำเป็นต้องมีการวางแผนบูรณาการร่วมกันในการรองรับการเปลี่ยนแปลงและลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ มีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ สามารถดูแลและจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้ ทั้งของตนเอง ครอบครัว และผู้อื่นในชุมชน ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทักษะการสื่อสาร บุคลิกภาพ ทัศนคติที่ช่วยให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตผู้สูงอายุ “Soft Skills : สร้างคุณค่าผู้สูงอายุไทย ในศตวรรษที่ 21” ต้องการให้เครือข่ายผู้ดูแลทั้งและนอกระบบสาธารณสุขมีความรู้ ความเข้าใจเรื่อง Soft Skills แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ปัญหาและปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในครั้งนี้ยังมีวิทยากรทั้งในภาคการศึกษา ได้แก่ ดร.อรรจน์ สีหะอำไพ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้พัฒนากลไกการสื่อสาร
เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคมทางโซเชี่ยลมีเดีย ดังเช่น นายประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย ร่วมในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้อีกด้วย

********************                                      

 (15 สิงหาคม 2567)