Press ข่าววันที่ 5 เมษายน 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 418
กระทรวงสาธารณสุข แจงการจัดบริการของผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยยาเสพติดที่มีปัญหาจิตเวช อย่างไร้รอยต่อ
วันนี้ (5 เมษายน 2567) กระทรวงสาธารณสุขได้นำประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาปรับการจัดบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยให้เพียงพอและครอบคลุมเพื่อรองรับผู้ป่วยจำแนกตามความรุนแรงของอาการการเสพติดและอาการทางจิตร่วม ทุกระดับฯ เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงคือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง (SMI-V: Serious Mental illness-Violence) ผู้ป่วยกลุ่มสีส้มคือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยอยู่่ในระยะอาการกำเริบ มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง , ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองคือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย แต่อยู่ในระยะอาการสงบ และผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวคือผู้ป่วย
ยาเสพติดที่ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างไร้รอยต่อ
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2566 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งผลักดันผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติได้อย่างปลอดภัย ตามนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 หากผู้เสพยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดสามารถติดต่อขอรับการบำบัดไปยังศูนย์คัดกรองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/องค์การบริหารปกครองส่วนตำบลหรือเทศบาลตำบลได้ หรือสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาภายใต้สถานพยาบาลในภาคีเครือข่ายสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วยังสามารถเข้าสู่ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ช่วยเหลือในด้านอาชีพ การการศึกษาและทุนสงเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งสถิติการนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้แก่ เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในทุกรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปรวมทั้งสิ้น 127 แห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงและส้มปัจจุบันให้บริการแล้ว
12,780 ราย , เปิดบริการมินิธัญญารักษ์ในรพ.ชุมชน จำนวน 140 แห่งเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองปัจจุบันให้บริการแล้ว 4,463 ราย และกระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดบริการชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx: Community Based Treatment) ประมาณ 322 แห่งเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวปัจจุบันให้บริการแล้ว 4,763 ราย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าผู้ป่วยที่เข้าบริการชุมชนล้อมรักษ์ยังมีจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบการบันทึกข้อมูลทำให้ข้อมูลผู้ป่วยยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าการแก้ไขระบบการบันทึกข้อมูลจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน อนึ่งชุมชนล้อมรักษ์ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการเฝ้าระวังสัญญาณสี่ยงผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดก่อความรุนแรง ควบคู่กับการติดตามรักษาต่อเนื่องร่วมกับการงดใช้สุรา/สารเสพติด มีส่วนสำคัญต่อการลดการกำเริบอาการทางจิตซ้ำได้ พร้อมชี้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 สามารถกำหนดให้มีการควบคุมตัวบุคคลลักษณะนี้เข้ารับการรักษาก่อนที่จะไปก่อความรุนแรงในสังคม ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ 1.มีภาวะอันตราย และ 2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น มีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ ทั้งนี้มาตรการที่จะทำให้การบำบัดรักษาสัมฤทธิ์ผลและลดจำนวนผู้ติดยาซ้ำหรือมีอาการกำเริบต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การเฝ้าระวังและช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการสังเกตพฤติกรรม เพราะแม้จะเป็นผู้ที่รับการรักษา กินหรือฉีดยาจิตเวชอย่างต่อเนื่อง แต่หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราและใช้สารเสพติด อันเป็นปัจจัยทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังสามารถทำได้จากการสังเกตสัญญาณเตือนบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ได้แก่ 5 สัญญาณอันตราย คือ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง
หากประชาชนท่านใดพบผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323
******************** 5 เมษายน 2567