DFD69F0A D002 4712 B894 127A3E8EE2AB 

 

กรมสุขภาพจิตห่วงใยเหยื่อความรุนแรงจากคนรัก อย่านิ่งเฉย ควรแสวงหาความช่วยเหลือ หากปล่อยระยะเวลาให้ เนิ่นนาน ความรักในรูปแบบที่ผิดๆอาจทำลายสุขภาพใจในระยะยาว

    วันนี้ (21 เมษายน 2566) จากข่าวความรุนแรงในคู่รักและครอบครัวที่ปรากฏมากขึ้นในสื่อต่างๆ กรมสุขภาพจิตขอส่งต่อความห่วงใย ให้สังคมร่วมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง ที่ส่วนใหญ่กว่า 90% ของเหยื่อเป็นเพศหญิง ย้ำชัด เหยื่อความรุนแรงต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์ ไม่ร่วมปกปิดปัญหา และตั้งสติ หาทางเลือกที่ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายร่างกาย ปกป้องตนเองไม่ให้ถูกกระทำซ้ำรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อนหรือคนใกล้ชิด และมีวิธีจัดการอารมณ์และจิตใจจากความเศร้าหรือความโกรธ ไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อเนื่องต่อชีวิตรวมถึงการเกิดบาดแผลทางใจของตนเองและครอบครัว

    พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในขณะนี้เราพบการนำเสนอข่าวการใช้ความรุนแรงในปัญหาความสัมพันธ์ได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ยิ่งเสริมให้ผู้มีความเครียดขาดสติและใช้ความรุนแรงในการปัญหาอย่างผิดๆได้ง่ายขึ้นตามภาพที่พบเห็น อีกทั้งผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงเองก็มักจะไม่กล้าที่บอกเล่าหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะความอับอาย หรือเพราะความรักที่มีต่อผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำ จนเกรงกลัวว่าบุคคลที่ตนรักจะถูกตีตรา ตำหนิ ถูกลงโทษจากสังคม หรือถูกดำเนินคดี เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นระเบิดเวลาอย่างหนึ่ง ยิ่งปล่อยเวลาล่วงเลยไป ก็จะทวีความรุนแรง ซับซ้อนและนำไปสู่การสูญเสียรูปแบบต่างๆได้ โดยผลในระยะยาวที่สำคัญ คือ การเกิดภาวะซึมเศร้า การใช้สุราและสารเสพติด ตลอดจนปัญหาการทำร้ายกันหรือการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ หากเด็กและเยาวชนที่แม้ไม่ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง เพียงแค่เห็นสมาชิกในครอบครัวถูกกระทำความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน จะส่งผลกระทบไม่ต่างกับผู้ที่ถูกกระทำด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งและมองว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กชายจะเรียนรู้ผิดๆว่าการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าต่อผู้ที่ตนเองรัก โดยจากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี 2561 – 2565 พบว่า มีจำนวนผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมารับบริการจำนวนทั้งสิ้น 80,272 ราย ซึ่งเพศหญิงเป็นกลุ่มที่ขอเข้ารับบริการมากที่สุดซึ่งมีจำนวน 73,025 รายหรือคิดเป็น ร้อยละ 90.97 โดยประเภทของความรุนแรงที่พบจากกลุ่มผู้ที่มาขอรับบริการในศูนย์พึ่งได้ อันดับแรก คือการกระความรุนแรงทางด้านร่างกาย ร้อยละ 48.30 การกระทำความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 25.81 และการกระทำรุนแรงทางจิตใจ ร้อยละ 18.89

    พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลแต่เพียงทางร่างกายเท่านั้น ยังส่งผลทางจิตใจในระยะยาวทั้งต่อครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่ไม่สามารถก้าวผ่านสถานการณ์นั้นได้จนนำไปสู่การใช้ชีวิตที่ไม่มีความสุข เพราะความรู้สึกโศกเศร้าที่ยังติดค้างในใจจะสามารถประทุรุนแรงขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจมีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสิ่งเร้าภายในจิตใจและสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งเมื่อภาพการถูกทำร้ายที่เจ็บปวดเกิดขึ้นในความคิดบ่อยๆ มากขึ้น ส่งผลต่อปัยหาสุขภาพจิตต่อผู้ที่ถูกกระทำ เช่น มีการแยกตัวจากคนใกล้ชิด สมาชิกอื่นในครอบครัว ญาติหรือเพื่อน ๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ต้องหวนคิดถึงเหตุการณ์ความรุนแรง และแม้จะสามารถสงบจิตใจได้แต่ความโกรธจากเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ดังนั้นเมื่อนึกถึงหรือประสบปัญหาถูกกระทำความรุนแรงจนเกิดอารมณ์เศร้าหรือโกรธสามารถใช้ 4 วิธีจัดการอารมณ์และจิตใจ ได้ดังนี้ 1. พยายามแยกตัวออกจากสถานการณ์เสี่ยงให้ตนเองมีความปลอดภัย 2. ตั้งสติให้เวลากับตนเองในการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด 3. ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดโดยไม่เขินอาย และไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปยาวนาน 4. ดูแลจิตใจตนเอง ด้วยการนึกถึงเรื่องที่ดี ๆ ในอดีตให้รู้สึกผ่อนคลาย และ 5. หาสิ่งที่ตนเองชอบทำให้อารมณ์ดี หรือใช้อารมณ์ขันเพื่อดับอารมณ์เศร้าโศก เสียใจ

   ทั้งนี้ หากพบเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวไม่ควรเพิกเฉย สามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น การโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 สอดส่องดูแลบุคคลใกล้ชิดไม่ให้ใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวหรือชุมชนหากพบผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากความรุนแรงนั้นสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

                                                    ความรัก ไม่ได้หมายรวมถึง การปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป
                                    21 เมษายน 2566