Press 311065

 

กรมสุขภาพจิต แถลงข่าวร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและ AIS  เปิดตัวแคมเปญโฆษณา“มีความรู้ก็อยู่รอด” พร้อมชู "ทำไม...ต้องรู้ก่อนตาย"

     วันนี้ ( 31 ตุลาคม 2565) อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสวนาเปิดตัวแคมเปญ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ณ AIS DC ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยม เวลา 10.00 – 12.00 น. โดย เน้นย้ำ 3 เรื่อง ให้ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องรู้เพื่อป้องกันภัยหรือการหลอกลวงทางไซเบอร์  "ทำไม...ต้องรู้ก่อนตาย"

     พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การหลอกลวงทางไซเบอร์ หรือการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) เป็นภัยอันตรายที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการรับมือกับภัยไซเบอร์ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความฉลาดทางดิจิทัล หรือ ทักษะ DQ (Digital Intelligence Quotient) และความรู้ที่จะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขยายการรับรู้วิธีรับมือภัยไซเบอร์สู่ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยหลักสูตร "AIS อุ่นใจไซเบอร์" จะเป็นการส่งเสริมเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ และส่งเสริมให้ประชาชนมี cyber wellness กล่าวคือ “ถ้าเรามีความรู้ก็สามารถอยู่รอดได้ในสังคม       ไม่ตกเป็นเหยื่อจนเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย” โดยหลักสูตรนี้ ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถเรียนรู้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรับใบประกาศนียบัตรแบบออนไลน์

      พญ.อัมพร กล่าวต่ออีกว่า ผลกระทบจากโควิด 19 ประกอบกับภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 และสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่ลดลงเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยและมีวิธีการทำร้ายตนเองที่รุนแรงขึ้น กรมสุขภาพจิตได้สำรวจความเครียดที่นำไปสู่เหตุรุนแรง พบว่าคนไทยไม่ได้ขาดความรู้ในการดูแลจิตใจตนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีความรู้แต่ไม่สามารถนำไปปรับใช้ในเชิงปฏิบัติได้

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอเสนอ “3 รู้” ที่สำคัญเพื่อป้องกันภัยหรือการหลอกลวงทางไซเบอร์ ดังนี้

“รู้ข้อมูลข่าวสาร” ปัญหาจะเกิดขึ้นน้อยลงถ้าเรารู้ข้อมูลข่าวสารทั้งด้านบวกและลบ เพื่อให้เท่าทันต่อภัยมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ

“รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง” คนเรามักมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง และกลัว ที่เป็นจุดอ่อนให้มิจฉาชีพได้หลอกใช้เหยื่อหรือขยี้จุดอ่อนทางอารมณ์ให้เหยื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวและหลงเชื่อ แล้วทำตามที่มิจฉาชีพหลอกหลวง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องเตือนตัวเองให้เป็น

รู้ที่จะขอความช่วยเหลือ” ด้วยสมาชิกครอบครัว ครูบาอาจารย์ และเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดข้อสงสัยว่าจะโดนหลอกลวงในบางครั้งการหลอกลวงจะมาในรูปแบบการหลอกให้ไว้เนื้อเชื่อใจ ดังเช่นที่ได้ยินจากเหยื่อในหลาย ๆ เหตุการณ์ว่า การไม่โอนเงินให้เท่ากับไม่รักหรือไม่ถ่ายภาพส่วนตัวให้ดูถือว่าไม่ไว้ใจ

กรมสุขภาพจิตจึงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมเฝ้าระวังผลกระทบทางไซเบอร์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับตนเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาจตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจ ทั้งนี้ “ไม่โอนแปลว่าไม่รัก ไม่แก้ผ้าแปลว่าไม่ไว้ใจ”ไม่ใช่คำพูดของคนที่ปรารถนาดีต่อกัน โดยสายด่วน 1323 ยินดีเป็นส่วนเชื่อมให้หลุดพ้นจากความลุ่มหลงสู่...โลกแห่งความเป็นจริง

           

*******************

31 ตุลาคม 2565