Press 181065

 

 

กรมสุขภาพจิต ชวนใช้หลัก อึด ฮึด สู้ เพื่อฝ่าวิกฤตอุทกภัย เน้นย้ำสังคมสร้างสมานฉันท์ด้วยหลัก 3 Share ดูแลใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมส่งหน่วย MCATT เยียวยาใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ให้การช่วยเหลือทุกภาคส่วนในพื้นที่อุบลราชธานี

          วันนี้ (18 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิต เฝ้าระวังผลกระทบทางใจในผู้ประสบอุทกภัย เชิญชวนให้สังคมร่วมดูแลจิตใจกัน ด้วยหลัก อึด ฮึด สู้ พร้อมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุดเป็นลำดับแรก พร้อมประสานงานทีม MCATT ในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ และช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ให้การช่วยเหลือในพื้นที่

         นายแพทย์ธิติ  แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุอุบลราชธานี นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสูญเสียทรัพย์สินและการเจ็บป่วยทางร่างกาย สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุอีกด้วย ซึ่งโรคทางจิตเวชที่สำคัญจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้ทันตั้งตัว คือ โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย หรือที่เรียกว่า โรค PTSD โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย และทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์ไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้ กรมสุขภาพจิตห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยจากปัญหาดังกล่าว ขอให้สมาชิกในสังคมช่วยกันดูแล และแสดงถึงพลังยืดหยุ่นในจิตใจ อึด ฮึด สู้ โดยสร้างมุมมอง และลดความวิตกกังวลจนนำไปสู่ความเครียด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต หลักการ อึด ฮึด สู้ สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมองด้านบวกที่สร้างสรรค์ มองเห็นทรัพยากร และสัมพันธภาพดีงามรอบ ๆ ตัว ที่จะสร้าง และทำให้โอกาสในชีวิตปรากฏขึ้น ซึ่ง อึด คือ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง สงบ มั่นคง ทนต่อแรงกดดัน ควบคุม ตัวเองได้ และมั่นใจว่าตนเองต้องเอาชนะปัญหาอุปสรรค และผ่านพ้นวิกฤตได้ ฮึด คือการมีกำลังใจหรือมีแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งกำลังใจนี้มีที่มาสำคัญ คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง และท้ายที่สุด สู้ หมายถึง ต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต สามารถแก้ไขปัญหา และมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์
และความเครียด โดยกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการประสานงานไปยังทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ รวมทั้งดูแลช่วยเหลือ และฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน

       นายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ขอให้สมาชิกในสังคมช่วยกันดูแล
โดยใช้หลัก 3 Share หรือ 3 แนวทางการแบ่งปัน โดย Share แรกคือการแบ่งปันกำลังใจ ในสถานการณ์ที่ท้อแท้เศร้าหมอง หากมีคำพูดปลอบโยน
แม้เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยในการสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นได้ Share ที่สองคือการแบ่งปันสิ่งดำรงชีพ โดยไม่กักตุนไว้จนเกินความจำเป็นหรือปริมาณการ
ใช้สอย จนทำให้สังคมในภาพรวมเดือดร้อนเพราะขาดแคลน และ Share สุดท้าย การแบ่งปันน้ำใจ โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างหนัก รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเป็นลำดับแรก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งทางกายและทางใจจนทรุดหนักเพิ่มขึ้น

     ดร.สุภาภรณ์  ศรีธัญรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และมอบสิ่งของ
จากหลายภาคส่วน ซึ่งจากการออกปฏิบัติงานดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ รพ.สต.หนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 602 คน พบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเครียดในระดับน้อยถึงปานกลาง แสดงให้เห็นถึงความเข็มแข็งของชุมชนที่มีเป็นทุนเดิม นอกจากนี้การดำเนินงานเชิงรุกยังได้ลงทำการประเมินเพื่อเยียวยาในจุดพักพิงทั้ง 29 แห่ง การประเมินภาวะเครียด
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม จากการสำรวจจํานวน 5,009 คน พบว่ามีระดับเครียดสูง ร้อยละ 3.03 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 3.87 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 0.25  ซึ่งทุกรายที่พบความเสี่ยงสุขภาพจิตได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจ และส่งต่อดูแลจากทีมสุขภาพจิต โดยในเขตวารินชำราบทำการส่งต่อการดูแล
ที่โรงพยาบาลวารินชําราบ และในเขตฝั่งเมือง ส่งต่อโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านต่อไป และด้วยสถานการณ์ที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง ทีม MCATT ก็ยังให้ความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการพูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความรู้ในการดูแลจิตใจเบื้องต้น และเทคนิคการผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองแก่ทีมช่วยเหลือที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจจากการปฏิบัติงานอีกด้วย  

     กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลจิตใจคนใกล้ตัว และในครอบครัว หากมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และขอคำปรึกษา พูดคุยกับผู้ที่สามารถรับฟังปัญหาของเราได้ หากพบปัญหาต้องการเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อได้ที่ Line Application Smile Connect หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

*******************

18 ตุลาคม 2565