press 01026511

 

กรมสุขภาพจิต ห่วงใยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อเด็ก แนะคนใกล้ชิดสังเกตอาการและช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน ปลูกฝังค่านิยมไม่ยอมรับความรุนแรงในสังคม

     วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) กรมสุขภาพจิตห่วงใยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อเด็ก จากกรณีข่าวนักร้องไอดอลสาวออกมาเปิดเผยเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่เกิดขึ้นต่อตนเอง กรมสุขภาพจิตจึงขอรณรงค์กระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวที่อาจส่งผลกระทบทางกายและจิตต่อเยาวชนได้ เน้นการสร้างครอบครัวที่ไม่ยอมรับความรุนแรง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น ปลูกฝังค่านิยมในเด็กและเยาวชน และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

     แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กและเยาวชนจะมีพัฒนาการที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องมีความรู้สึกปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนหนังสือ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากในแต่ละปีที่ยังคงเป็นเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว มักมีลักษณะเป็นการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทางวาจา ทำร้ายทางจิตใจ บังคับข่มเหง ขมขู่ ควบคุม หรือ ทอดทิ้ง จากบุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรืออาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน โดยผลกระทบการที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวนั้นจะทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว หวาดผวา มองโลกในแง่ลบ รังเกียจตนเองและคนรอบข้าง รู้สึกอับอายควบคุม    สถานการณ์ไม่ได้และพยายามตัดขาดจากโลกภายนอก รู้สึกสิ้นหวัง หรืออาจรู้สึกด้านชาต่อความรุนแรง ในระยะยาวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นั้นจะสามารถสร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและจิตได้อย่างมาก เช่นปัญหาการนอน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรค PTSD หรืออาจทำร้ายร่างกายตนเองได้ ซึ่งแม้เด็กและเยาวชนที่ไม่ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง แต่เห็นสมาชิกในครอบครัวถูกกระทำความรุนแรงยาวนานเรื้อรัง ก็ทำให้เกิดผลกระทบได้ไม่ต่างกับเด็กที่ถูกกระทำโดยตรง โดยในเด็กผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยาในอนาคต เนื่องจากเด็กที่ถูกทุบตีทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงต่อเนื่อง จะฝังใจเรื่องความรุนแรงและอาจจะเข้าใจผิดว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง รวมทั้งการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

     แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างครอบครัวให้ห่างไกลความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ปัญหาความรุนแรงจำนวนมากเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างทุกคนในครอบครัวและการใช้สุราสารเสพติด เพราะฉะนั้นแนวทางป้องกันหรือลดความรุนแรงที่สามารถทำได้ คือ ต้องเริ่มจากตัวเราและสมาชิกทุกคนให้มีความเข้าใจเรื่องความรุนแรงที่ตรงกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ใช้การสื่อสารเชิงบวก เคารพและให้เกียรติ ให้ความรัก เอาใจใส่ ควบคุมอารมณ์ ให้อภัยซึ่งกันและกัน เคารพบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน เมื่อมีปัญหาควรหันหน้าหารือกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและหาข้อยุติของปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากมีสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต การใช้สุราและสารเสพติด หรือปัญหา           ด้านการควบคุมอารมณ์ ควรให้ความสำคัญและพาไปปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ การปลูกฝังเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงในเด็กจะช่วยลดจำนวนผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงในอนาคต ครอบครัวควรอบรมเลี้ยงดูและปลูกฝังค่านิยมในการไม่ยอมรับความรุนแรง มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เน้นการให้รางวัลและแรงเสริมทางบวกเมื่อทำดีมากกว่าการลงโทษทางกายอย่างรุนแรงเมื่อทำผิดพลาด รู้จักปฏิเสธ หลบเลี่ยงและขอความช่วยเหลือเมื่อมีคนมาใช้ความรุนแรงกับตนเอง

     ทั้งนี้หากพบเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นใกล้ตัวไม่ควรเพิกเฉย เราสามารถให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น การโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 นอกจากนั้นยังสามารถให้กำลังใจและให้คำปรึกษาผู้ถูกกระทำความรุนแรง แนะนำแหล่งข้อมูลหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน และหากพบว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากความรุนแรงนั้นสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

*************  1  กุมภาพันธ์  2565