Press ข่าววันที่ 10 กันยายน 2564
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1161
กรมสุขภาพจิตแถลงข่าวเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 2021 ร่วมกับภาคีเครือข่าย
เน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การลดความสูญเสียในสังคม
วันนี้ (10 กันยายน 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแถลงข่าวเรื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2564 โดยมีหน่วยงานและภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เช่น กรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสื่อมวลชน และผู้แทนภาคประชาชน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 10 กันยายน ซึ่งทุกปีจะตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกหรือ World Suicide Prevention Day ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและเป็นความสูญเสียที่เราทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันได้ ซึ่ง World Suicide Prevention Day ในปีนี้ มี theme ในระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า Creating Hope Through Action หรือ รวมพลังสร้างความหวัง ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมุ่งหน้าสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อผ่านวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นและลดการฆ่าตัวตาย
นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง หัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติได้มีการติดตามอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาโดยตลอด และได้ทำการพัฒนาฐานข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้มีความใกล้เคียงอัตราที่แท้จริงมากที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลเดิมที่ประเทศไทยใช้มาตลอดคือ ฐานข้อมูลของมรณบัตร ซึ่งเป็นข้อมูลทางการและเป็นข้อเท็จจริงแต่จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องพบว่าอัตราที่ปรากฏในมรณบัตรอาจน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น กรมสุขภาพจิต จึงได้ปรับการใช้ฐานข้อมูลใหม่เป็นระบบ 3 ฐาน ซึ่งเป็นการใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยประสานร่วมกับฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและฐานข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบฐานข้อมูลทั้งสองระบบในปี 2561 2562 และ 2563 จะพบว่า ในระบบฐานเดี่ยว (เดิม) มีอัตราเท่ากับ 6.32 6.73 และ 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปี ตามลำดับ และในระบบ 3 ฐาน (ใหม่) มีอัตราเท่ากับ 8.81 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากรต่อปี ตามลำดับ การปรับใช้ฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสูงขึ้นจะช่วยให้ประชาชนรับทราบอัตราการฆ่าตัวตายที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด และช่วยสร้างความตระหนักมากขึ้นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน
ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และสถิติทั่วโลกย้อนหลังมีจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบ่งบอกถึงเราทุกคนต้องร่วมกันทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีกำแพงที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ มุมมองด้านลบถึงคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและคนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย เช่น การมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต ทำให้คนที่กำลังมีความคิดอยู่ไม่กล้าเข้าสู่ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ถ้าสังคมไทยสามารถปรับมุมมองตรงนี้ได้ จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนที่กำลังมีปัญหาได้มากขึ้น
พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญในปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ความเสียใจอย่างมากจากความสูญเสียเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ควรกล่าวโทษตนเอง เพราะบางครั้งไม่ได้เกิดจากความละเลย ให้พยายามกลับไปดำเนินชีวิตอย่างปกติ อยากให้สังคมมองคนที่ต้องอยู่ในสภาวะนี้มากขึ้น พยายามทำความเข้าใจ ไม่กล่าวโทษซึ่งกันและกัน พยายามรับฟังกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยกัน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายนั้นเป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายมาโดยตลอด ซึ่งปีนี้จะสะท้อนภาพตัวเลขที่สูงขึ้นทั้งจากอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 และการปรับใช้ฐานข้อมูลใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากทางวิชาการทางด้านการพัฒนาการวิจัยเรื่องการฆ่าตัวตายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านนี้ โดยในช่วงปีที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประชากรไทย ผ่านการดำเนินงานยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความรอบรู้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยสร้างความร่วมมือใหม่ๆกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน (2) เพิ่มความเข้มข้นด้านการคัดกรองและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เช่น ระบบการประเมินสุขภาพจิตผ่าน Mental Health Check in การอบรมอาสาสมัครด้านสุขภาพจิต บูรณาการการคัดกรองกับหน่วยงานต่าง ๆ (3) พัฒนาเทคโนโลยีและระบบการดูแลรักษาและติดตามเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายซ้ำ เช่น การพัฒนาศักยภาพการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในคลินิกหมอครอบครัว การจัดระบบ Telepsychiatry การใช้นวัตกรรมในการดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มเสี่ยง/วิกฤต ได้แก่ ช่องทาง @Khuikun และ ระบบ HOPE Task Force (4) พัฒนากลไกการจัดการปัญหาในพื้นที่แต่ละจังหวัด สุดท้ายนี้การทำงานด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญของการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น กรมสุขภาพจิตจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทยทุกคนร่วมกันพูดคุยและให้กำลังใจกับคนรอบข้างมากขึ้น สร้างความหวังให้กับตนเองและคนรอบข้าง ในการมีชีวิตอยู่เพื่อพบกันในวันพรุ่งนี้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในสังคมไทยต่อไป
นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวว่า ในส่วนของด้านสื่อมวลชนนั้นก็ให้ความสำคัญกับปัญหาการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการนำเสนอข่าวเท่านั้นแต่รวมถึงการนำเสนอผ่านละครและสื่อบันเทิงอื่น ๆ อีกด้วย การนำเสนอบางครั้งอาจสร้างความรู้สึกเศร้าเสียใจให้กับคนที่ดูสื่ออยู่ และต้องระวังปัญหาการเลียนแบบโดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม คนที่กำลังดูสื่ออยู่นั้นอาจมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่ไม่เท่ากันในการดูสื่อที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย แนวทางการนำเสนอที่เหมาะสมนั้น ต้องเริ่มจากสื่อต้องมีความรู้ในการนำเสนอเรื่องนี้ ไม่ควรเสนอแบบหวือหวา ไม่ควรระบุสถานที่ ไม่นำเสนอภาพสด ไม่เสนอเครื่องมือหรือเหตุจูงใจ ให้ความเคารพในครอบครัวของผู้เสียชีวิต การนำเสนอแต่ละครั้งนั้นควรมีการหารือกันอย่างรอบคอบถึงแนวทางที่เหมาะสม รวมถึงควรมีระบบในการรับฟังข้อคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อนำไปพัฒนาการทำงานของสื่อในอนาคตด้วย
นายอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม (ด้านสุขภาพจิต) และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “SATI” กล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไป บางครั้งรู้สึกว่าคนในสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตาย จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าบางครั้งเป็นการให้กำลังใจที่ไม่ได้ช่วย หรือเป็นการต่อว่าที่ไม่พยายาม ซึ่งในความคิดของคนที่กำลังอยากตายจะไม่ได้รู้สึกดีขึ้นจากสิ่งนั้น แต่จะดีขึ้นได้จากการที่มีคนพยายามรับฟัง มีความรู้สึกว่ามีคนที่พยายามเข้าใจ จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการสร้าง SATI Application เพื่อให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ในการรับฟังที่ดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องขอบคุณกรมสุขภาพจิตที่ช่วยอบรมอาสาสมัครในการรับฟังเพื่อช่วยเหลือคนที่เข้ามาใช้บริการ ในขณะนี้มีผู้ใช้บริการการรับฟังกว่า 2,000 รายต่อเดือน
*****************************************