Press วันที่ 8 มีนาคม 2564
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 846
กรมสุขภาพจิตร่วมกับ สสส. จัดเวทีหารือแนวทางการขับเคลื่อนงาน“สร้างสุข-ลดทุกข์ กลุ่มแรงงานในระบบ” พร้อมให้ความสำคัญการดูแลด้านสุขภาพจิตต่อกลุ่มแรงงานในระบบภายใต้วิกฤติการจ้างงานยุคโควิด 19
วันนี้ (8 มีนาคม 2564) กรมสุขภาพจิตและ สสส. จัดเวทีร่วมหารือกับผู้แทนสถานประกอบการ 10 แห่ง เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนงาน“สร้างสุข-ลดทุกข์ กลุ่มแรงงานในระบบ” เน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการดูแลเรื่องสุขภาวะองค์รวมของคนทำงาน รวมไปถึงการที่บุคคลสามารถจัดการดูแลสภาวะสุขภาพของทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการหาทางออกในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งเสริมการใช้วัคซีนใจ ให้ผู้ทำงานมีการดูแลสุขภาพจิตและสามารถนำมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานได้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ต่อเนื่องมายาวนาน ได้สร้างวิกฤติทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในระดับโลก และปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมกับรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้วิถีปกติใหม่ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสได้รับผลกระทบมากและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก รวมไปถึงมีแรงงานจำนวนมากต้องว่างงานอย่างฉับพลัน ประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานในสังคม เมื่อเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากับเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมไทยจึงเติบโตแบบไม่สมบูรณ์และมีความเปราะบาง ส่งผลให้รายได้ของภาคเอกชนลดลง เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นมา การเลิกจ้างและลดค่าจ้างเป็นทางออกที่สำคัญของภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถประคับประคองอยู่รอดต่อไปได้ แต่ก็มีผลกระทบค่อนข้างมากกับแรงงาน แม้ว่าบางสถานประกอบการขนาดใหญ่หลายแห่งได้มีการขอให้พนักงานที่มีอายุค่อนข้างมากเลือกเกษียณอายุโดยความสมัครใจ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานแทนการเลิกจ้างโดยตรงและเมื่อกฎหมายได้กำหนดอายุเกษียณงานภาคเอกชนไว้ที่อายุ 55 ปี จึงมีแรงงานกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยไม่มีเงินออม และเสี่ยงต่อภาวะหนี้สิน การไม่ได้ทำงานทำให้ขาดรายได้ และทำให้แรงงานกลุ่มนี้จึงยากที่จะกลับเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นผู้สูงอายุที่ตกงานถาวรและจะกระทบต่อในระยะยาวกับสังคมสูงวัยของไทยโดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพจิต
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า เพื่อวางแผนหนทางที่จะป้องกันปัญหาให้กับวัยทำงานในระยะยาว การหารือในวันนี้จึงเป็นการร่วมกันพิจารณาโครงการการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สสส. สำนักสร้างสรรค์โอกาส หารือช่วยกันสร้างแนวทางการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ บรรเทาหนี้ครัวเรือน พัฒนาศักยภาพแรงงานในระบบ และเน้นให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดการสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงิน สำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยงานด้านสุขภาพจิตนั้นใช้หลักของวัคซีนใจ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและพลังเกิดขึ้นในตนเอง รวมไปถึงการสร้างพลังใจในองค์กรเพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นวิถีชีวิตการทำงานของตนเองในช่วงที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอน และประคับประคองจิตใจให้ผ่านไปจนถึงช่วงที่สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ซึ่งหากวัยทำงานมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะนำมาซึ่งผลผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรและประเทศชาติต่อไป
กรมสุขภาพจิตและ สสส. ยังได้มีแผนงานที่จะดำเนินการปรึกษาหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้แผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในวัยแรงงานสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในองค์กรนำร่อง และมีกลไกติดตามงานเพื่อให้บรรลุตามแผนและวัตถุประสงค์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
- 8 มีนาคม 2564