Press ข่าววันที่ 18 มกราคม 2564
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1121
กรมสุขภาพจิต แนะสังคมไทยพัฒนาจิตใจ ด้วย “ วินัย -สุขนิสัย ” ป้องภัยโควิด 19
กรมสุขภาพจิต แนะแนวทางแก้ความรู้สึกทั้งตระหนก กังวล และ ความโกรธเคือง จากผลกระทบ โควิด 19 สังคมไทยต้องพัฒนาด้านจิตใจ โดยการสร้างวินัย จัดระเบียบในจิตใจ และการสร้างสุขนิสัยตนเองให้เกิดความปลอดภัย เช่น ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ชี้เป็นเครื่องมือป้องภัยใกล้ใจใกล้ตัว มั่นใจจะช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายได้สำเร็จเร็วขึ้น ดีต่อใจทุกฝ่าย
นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ความตื่นตระหนก ส่งผลต่อจิตใจและเป็นเร่งด่วนที่สังคมจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ ทั้งการให้ข้อเท็จจริง ความรู้ และบริการต่างๆเพื่อคลายเครียดโดยเร็ว ขณะเดียวกันในบางครั้งการเข้าใจผิดพลาดของสังคมก็อาจเกิดจากการส่งต่อความวิตกกังวลของตนเองผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกิดเป็นปรากฏการณ์เสมือนความกังวลแพร่ระบาดให้กลุ่มคนที่กำลังสนใจในวงกว้างไปด้วย จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวเกินเหตุได้ โดยแนวทางในการพัฒนาจิตใจให้สามารถปรับตัวในสถานการณ์โรคโควิด19 ให้เกิดผลดีต่อสุขภาพกาย จิตใจทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสามารถปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของภาครัฐ ประกอบด้วยหลัก 2 ประการ คือ การสร้างวินัย และการรักษาสุขนิสัย ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราและเป็นต้นทุนที่สำคัญของการมีสุขภาพดี โดยเรื่องของวินัยนั้น เป็นระเบียบภายในจิตใจแต่ละบุคคล มีความสำคัญมากต่อการกำหนดชีวิตของคนให้เป็นระบบ สร้างความสม่ำเสมอในชีวิต ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ จัดเป็นความประพฤติดีและมีทัศนคติเชิงบวก การมีวินัยจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และกำหนดตนเองได้ว่าต้องทำอะไร จะตอบสนองสถานการณ์อย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมจิตใจ ปล่อยตามใจเกินไป ก็อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นกัน เช่น ความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้าได้ ประชาชนทุกคนสามารถสร้างด้วยตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติ ดังนี้ 1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วลงมือทำ 2. สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง คล้ายเป็นแรงฮึดให้ตัวเอง 3. สร้างนิสัยใหม่ๆ ใส่ใจกับการพัฒนาตนเองในทิศทางที่ดีและเป็นบวก เมื่อค้นพบวิธีการแก้ไขแล้ว ให้ฝึกทำให้เป็นกิจวัตร เหมือนกับการกินข้าว เมื่อเกิดอาการขี้เกียจ ให้บอกตัวเองว่า ถ้าเราไม่ทำแล้ว ใครจะมาทำให้เรา 4. หมั่นให้กำลังใจและให้รางวัลตนเอง โดยใช้คำง่ายๆว่า ฉันทำได้ เพื่อบอกตัวเองให้มีแรงฮึดสู้ต่อไป
นายแพทย์สมัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องสุขนิสัย คือพฤติกรรมการปฏิบัติทางด้านสุขภาพ เช่นการกิน การอยู่ การทำงาน การหลับ การนอน เมื่อทำแล้วทำให้เรามีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีคุณภาพชีวิตดี มีความปลอดภัย ไม่เป็นโรค การปฏิบัติเป็นการประจำ จะกลายเป็นความเคยชินที่เราคุ้นปากกันว่า นิสัย จะอยู่อย่างคงทนและยังสามารถถ่ายทอดปลูกฝังสู่บุคคลอื่นได้ด้วย ในยามที่ประเทศเรากำลังเผชิญกับไวรัสโควิด 19 นี้ สุขนิสัยใหม่ที่เราต้องสร้างและรักษาไว้ 3 เรื่อง คือ การไม่ไปแออัดกัน ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และการล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ดี วิกฤติโรคโควิด 19 ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีของสังคมไทยที่จะเรียนรู้แนวทางการปรับตัว สามารถใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ทั้งจากโรคระบาดใหม่หรือวิกฤติอื่นๆ ซึ่งมีการจัดประเภทของผู้ที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 โซน โซนที่ 1 เรียกว่า โซนกลัว ซึ่งจะมีพฤติกรรมต่างๆแสดงออกมาให้เห็น พบเห็นได้ทั่วโลก ได้แก่ กักตุนสินค้า อาหาร และยาที่ยังจำเป็น แพร่ความกลัวและโกรธมากขึ้น ชอบบ่นว่าและตำหนิ แชร์ข้อมูลข่าวสารทันทีที่ได้รับ หงุดหงิดง่าย ส่งผลให้เกิดความสับสน โซนที่ 2 เรียกว่า โซนเรียนรู้ จะมีพฤติกรรมการแสดงออกดังนี้ เริ่มปล่อยวางกับสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของตน เริ่มหยุดเสพสิ่งที่ทำร้ายตนเอง เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตน และสามารถรับสภาพได้ ตระหนักถึงสถานการณ์และคิดหาทางออก พิจารณาให้ดีก่อนทุกครั้งที่ได้รับข่าวสาร และตระหนักรู้ว่าพวกเราพยายามทำดีที่สุด โซนที่ 3 เรียกว่า โซนพัฒนา จะมีความคิดและพฤติกรรมแสดงออกดังนี้ คิดถึงคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่น ใช้ทักษะของตนในทางที่ดีและแบ่งปันให้คนอื่นที่ขาดแคลนหรือต้องการ มีสติอยู่กับปัจจุบันและคิดหาทางออกเพื่ออนาคต อยู่ด้วยความเห็นใจซึ่งกันและกัน ยินดีและชื่นชมผู้อื่น รักษาความรู้สึกเป็นสุขและแพร่กระจายความหวัง หาหนทางปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และฝึกความสงบ ความอดทน ความคิดสร้างสรรค์และสัมพันธภาพที่ดี
กรมสุขภาพจิต ได้เร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาจิตใจ โดยเน้นหนักให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนัก ไม่ตระหนก เพื่อให้ทุกคนออกมาจากโซนกลัว และเข้ามาอยู่ในโซนของการเรียนรู้ และโซนการพัฒนาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรับมือและการฟื้นฟูผลกระทบต่างๆทั้งทางจิตใจ สังคม เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียได้อย่างทันการ สำหรับประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจสามารถตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองผ่านทางแอปพลิเคชั่น Mental Health Check In และหากมีข้อสงสัย เกิดความเครียด ท้อแท้ หรือวิตกกังวลอย่างมาก สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
********** 18 มกราคม 2564