กรมสุขภาพจิต แนะผู้ป่วยจิตเวช อย่าขาดยา ระหว่างกักตนเองเพื่อสังเกตอาการที่บ้าน
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 607
กรมสุขภาพจิต แนะผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในระหว่างการแยกกักตนเองเพื่อสังเกตอาการที่บ้าน ระวังอย่าขาดยา
กรมสุขภาพจิต แนะผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องรับประทานยารักษาอย่างต่อเนื่อง และเข้าเกณฑ์ต้องแยกกักตนเองเพื่อสังเกตอาการที่บ้านในช่วงนี้ ให้เตรียมยาประจำตัวให้เพียงพอระหว่างช่วงแยกกักตนเอง ดูแลเรื่องการรับประทานยาอย่างเหมาะสม ไม่ควรขาดยา และญาติช่วยดูแลติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (16 มีนาคม 2563) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า การแยกกักตนเองที่บ้านเป็นการสังเกตอาการว่าตนเองจะได้รับเชื้อหรือมีอาการป่วย โดยแยกกักจนเลยระยะเวลาฟักตัวของโรคหรือไม่มีเชื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อตนเองและสังคมโดยรวม เนื่องจากจะทำให้สามารถสังเกตอาการของตนเองได้ชัดเจนและสร้างความปลอดภัยให้คนรอบข้าง แต่ทั้งนี้หากผู้ที่แยกกักตนเองที่บ้านมีโรคประจำตัวหรือรักษาโรคทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ควรเตรียมยาให้เพียงพอสำหรับช่วงการแยกกักตนเอง โดยพยายามไม่ขาดยา
หากอยู่ในระหว่างการแยกกักตนเองที่บ้านและพบว่ายาที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อช่วงระยะเวลาการแยกกักที่เหลือ สามารถให้ข้อมูลเรื่องอาการของตนเองกับญาติ และมอบหมายญาติเพื่อมาพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยาจิตเวชแทนได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช โดยไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตนเองและผู้ป่วยอื่นๆ
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเครียดมากขึ้นจากความยากลำบากในการปรับตัวและความวิตกกังวลจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ใช้เวลาร่วมกันในการแนะนำการดูแลตนเองทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้นในขณะที่อยู่ระหว่างช่วงการแยกกักตนเองที่บ้านนั้น ขอให้ญาติรีบโทรแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่เดิม เพื่อประเมินความเสี่ยงและเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจิตเวช
กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยให้สถานการณ์ในขณะนี้เบาบางลงได้ โดยต้อง“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” ดูแลป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดอย่างมีสติ ลดการเสพข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนก ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน ลดความเกลียดชังในสังคม และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขทางช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างมาก สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
********************************* 17 มีนาคม 2563