Press ข่าววันที่ 17 มกราคม 2568
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 121
กรมสุขภาพจิต เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พร้อมแนะนำประชาชนดูแลใจคู่กายให้คลายวิตก ชี้การพูดคุย กับเพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สามารถช่วยลดความเครียดได้
วันนี้ (17 มกราคม 2568) กรมสุขภาพจิตชี้ ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกายและจิตใจ โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตนเองและครอบครัว อาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง คุณภาพการนอนหลับ และปัญหาพฤติกรรมในเด็ก เช่น ความหงุดหงิดและสมาธิสั้น หมั่นติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ หลีกเลี่ยงการ ออกนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูง การใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น การฝึกผ่อนคลาย และการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและลดผลกระทบทางสุขภาพจิตในระยะยาว
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ที่เรียกกันว่า ฝุ่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจลึกไปถึงปอด และกระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย แต่ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทางสุขภาพกาย ในส่วนผลกระทบทางสุขภาพจิต ปัญหาจากค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ทำให้ประชาชนความเครียดและความวิตกกังวล ในการการเผชิญกับมลพิษ ทางอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง สามารถเพิ่มระดับความเครียดและความวิตกกังวลในประชาชนได้ ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและครอบครัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เกิดภาวะ วิตกกังวลเรื้อรังได้อีกด้วย
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การต้องเผชิญกับมลพิษที่สูงในชีวิตประจำวัน ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การงดการออกกำลังกาย การไปสังสรรค์ หรือการไปในที่สาธารณะ นำไปสู่ความเครียดและหงุดหงิดที่ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามกรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในเรื่องของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เสี่ยงอันตราย และให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเลือกทำกิจกรรมภายในที่พักอาศัยหรือใช้วิธีการผ่อนคลายรูปแบบอื่น เช่น การดูหนัง ฟังเพลงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจทดแทนไปก่อน หรือการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในที่พักอาศัย พร้อมทั้งเตรียมวิธีการป้องกันและลดผลกระทบจากการเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 เช่น 1. การติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูง หากต้องเดินทางให้เตรียมความพร้อม เช่น การใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อจำเป็นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย 2. การฝึกผ่อนคลาย การพูดคุยกับเพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สามารถช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกรูปแบบหนึ่ง จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย แต่ยังมีผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนในระยะยาว กรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันตระหนักถึงผลกระทบ และการดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมในการเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหากมีความกังวล เครียด สามารถโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปได้อีกด้วย
17 มกราคม 2568