Press ข่าววันนี้ 22 สิงหาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 347
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมภาคเหนือตอนบน พร้อมมอบหมายทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 เตรียมพร้อมลงพื้นที่ และประสานการดูแลผู้ป่วยจิตเวชผู้ป่วยติดสุราและยาเสพติดไม่ให้ขาดยา
วันนี้ (22 สิงหาคม 2567) กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนเหตุอุทกภัยน้ำท่วมจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน มอบทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 จัดตั้งทีม EOC (Emergency Operation Center) เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ดูแลจิตใจประชาชน วางแนวทางการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก พร้อมประสานการดูแลผู้ป่วยจิตเวช/ผู้ป่วยติดสุราและยาเสพติดไม่ให้ขาดยาและอาการกำเริบ ในเขตสุขภาพที่ 1
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมรุนแรงอย่างรวดเร็ว จะเป็นช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและวุ่นวาย หลายครอบครัวต้องเอาชีวิตรอด ขนข้าวของสำคัญ สิ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้ดี คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การอพยพหลบหนี การระวังเรื่องไฟฟ้า แล้วค่อยคิดทางออกเป็นขั้นเป็นตอนจากง่ายไปยาก ตลอดจนลดความกังวลโดยติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการ เพื่อลดข่าวลือที่ผิดๆ สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไว้ใกล้ตัวเพื่อให้หยิบง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยกรมสุขภาพจิตมอบทีมในพื้นที่ดำเนินการใน 4 ส่วน คือ 1.จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว ร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ 2.เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงต่อการปัญหาจิตใจกลุ่มผู้ช่วยเหลือ 3.ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด และ 4.เฝ้าระวังผู้ป่วยติดสุรา ยาเสพติดเตรียมยาป้องกันอาการลงแดง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Telepsychiatry ด้วย พร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นเพื่อเตรียมจัดส่งให้ผู้ป่วยที่อาจขาดยา ผู้ป่วยที่ไปตามนัดไม่ได้ขอให้แจ้ง อสม./รพสต.ในพื้นที่ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3 ส. คือ “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” 1.สอดส่อง โดยการสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ของคนรอบข้าง และคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย เศร้า ไม่พูด 2.ใส่ใจรับฟัง โดยสื่อสารด้วยภาษากาย การโอบกอดเพื่อให้รู้สึกสงบขึ้น 3.ส่งต่อเชื่อมโยง ถ้าพฤติกรรมไม่ดีขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างถูกวิธี ที่สำคัญอย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด และควรตั้งสติ คิดวางแผนแก้ไขปัญหา อย่าหมดกำลังใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของชีวิตตนเองและครอบครัวไว้ การทำตามแผนที่รอบคอบจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้
นายแพทย์กิตติ์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ในช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 ตามประกาศเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตได้เป็นห่วงและสั่งการให้โรงพยาบาลจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชม.มีการบูรณาการในพื้นที่ให้บริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เตรียมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ ให้พร้อมลงปฏิบัติงานดูแลจิตใจแก่ผู้ประสบภัย ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติดผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและทรัพย์สิน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายทุกราย ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย จะมีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การทําให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม การให้ที่พักพิง รวมถึงการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานต่างๆ 2.การทําให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ได้แก่ การรับฟัง อย่างเข้าใจ การให้ข้อมูล การให้คําปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนการคลายเครียดต่างๆ 3.การช่วยเหลือ จัดการ ให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะครอบครัว และการช่วยเหลือต่างๆ 4.การสร้างความหวังที่เป็นไปได้ เช่น การประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ และอื่นๆ การให้ข้อมูล และ 5.การส่งเสริม กระตุ้น บุคคล หรือชุมชน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และช่วยเหลือ
กันและกัน
ซึ่งขอให้พึงระลึกเสมอว่าภายใต้ภัยพิบัติ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น ช็อค เสียใจ หงุดหงิด วิตก นอนไม่หลับถือเป็นการตอบสนองของร่างกายและจิตใจตามปกติที่เกิดขึ้น และจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ถ้ายังพบผู้มีความเครียดสูง ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สามารถขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ เพื่อรับคำปรึกษา และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อไป
*******************************22 สิงหาคม 2567