Press ข่าววันที่ 1 กรกฎาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 335
กรมสุขภาพจิต เปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก” รุ่นที่ 16 พร้อมการแถลงข่าวความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการผลิต และพัฒนาแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิตและจิตเวชยาเสพติด
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2567) กรมสุขภาพจิตฝึกอบรมหลักสูตร “การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก” รุ่นที่ 16 พร้อมสนับสนุนสมทบ จำนวน 80 ทุน พร้อมดำเนินการตามนโยบายปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพัฒนาแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิตและจิตเวชยาเสพติด
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูล เรื่องภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ถึงปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ประกอบด้วยประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความบกพร่องทางใจของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด และผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับอัตรากำลังของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของประเทศ ยังมีความขาดแคลนไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเรามีจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพียง 822 คน จำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไปจำนวน 632 คน คิดเป็นร้อยละ 76.9 และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจำนวน 190 คน คิดเป็นร้อยละ 23.1 อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ = 1.25 คน ต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งทางรัฐบาลได้เห็นความสำคัญจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้มีการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2570) โดยต้องผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 150 คนผลิตพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มอีก 1500 คนนักจิตวิทยาคลินิกเพิ่มอีก 400 คน นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอีก 250 คน เภสัชเฉพาะทางอีก 150 คน การแก้ไขประเด็นดังกล่าว กรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนส่งเสริมการผลิตจิตแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ขยายอัตราการสนับสนับสนุนทั้งโอกาสและทุนเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาระบบและศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับให้บริการสุขภาพจิตจิตเวช และยเสพติด ที่ครอบคลุมมีคุณภาพ แก่ผู้รับบริการ ครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อประชาชน
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักจิตวิทยาคลินิกให้สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานของวิชาชีพที่กำหนดไว้ และสามารถดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดสารเสพติด ผู้มีปัญหาการกระทำความรุนแรง นักจิตวิทยาคลินิกจะต้องมีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่เหมาะสม การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ กรมสุขภาพจิตได้เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก ในงานเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัย การบำบัดรักษา การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จึงได้พิจารณาทุนสนับสนุนการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 80 ทุนๆ ละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 800,000.- บาท เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการพัฒนาเตรียมพร้อมการสอบและขึ้นทะเบียน ได้รับใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ คณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก” มาตามลำดับขั้น ได้มีการจัดฝึกอบรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน มาเป็นทั้งสิ้น 15 รุ่น ในครั้งนี้การจัดฝึกอบรมรุ่นที่ 16 การฝึกอบรมตามหลักสูตรกำหนดให้มีการบรรยายในระยะ core course และการฝึกปฏิบัติงาน โดยมีหน่วยงาน สถาบันสนับสนุนรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าฝึกปฏิบัติงาน 54 แห่ง จากรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย รพ.ตำรวจ รพ.ทหารเรือ รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต มีนักจิตวิทยาคลินิกที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรม ทั้งหลักสูตรเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งสิ้นจำนวน 189 คน
********************
1 กรกฎาคม 2567
-o