Press ข่าววันที่ 24 มีนาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1220
กรมสุขภาพจิต เชิญชวนสังคมร่วมใจเฝ้าระวังผู้มีปัญหาจิตเวชที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง พร้อมเน้นย้ำให้เข้าสู่ การรักษา เพราะการมองข้ามสัญญาณเตือน อาจจะทำให้อาการกำเริบก่อความรุนแรงได้
วันนี้ (24 มีนาคม 2567) กรมสุขภาพจิต จากกรณีที่ดาราคนดังมีการโพสต์ข้อความกังวลในพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวช ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่พัก ที่มีการแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบ ที่เกิดเหตุ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลด้านจิตเวชที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการติดตามและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้ว กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำผู้ป่วยโรคจิตเวชหากมีสัญญาณเสี่ยง ชี้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต สามารถกำหนดให้มีการควบคุมตัวบุคคลลักษณะนี้เข้ารับการรักษา ซึ่งอาการป่วยทางจิตเวชสามารถป้องกันอาการกำเริบได้โดยการกินยาและดูแลรักษาต่อเนื่องไม่ขาดยาร่วมกับการ งดสุรา/สารเสพติด พร้อมมีช่องทางในการรักษาและรับบริการสำหรับประชาชน
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการติดตามและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในเวลาต่อมาซึ่งประเด็นนี้แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะผลักดันผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อเนื่อง ให้ผู้ป่วย ใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติ แต่มาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กัน คือ การกินยาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย การเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกตพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ดื่มสุราและใช้ยาเสพติด ทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะร่วมกัน เฝ้าระวังสามารถทำได้จากการสังเกตสัญญาณเตือนของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ได้แก่ 5 สัญญาณเตือนอันตราย คือ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง ที่บ่งบอกถึงความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ 1.มีภาวะอันตราย และ 2. มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มี ความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ หากประชาชนท่านใดพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไป ที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ ฝ่ายปกครอง/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ต้องการรักษาและอาการไม่รุนแรง สามารถ โทรขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นปกติ เพราะผู้ป่วยจิตเวชเป็นเพียงผู้ที่มีอาการการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงเป็นผู้ที่ไร้ความสามารถ หากได้รับการดูแลสนับสนุน และได้รับโอกาสดีๆ จากญาติ ผู้นำชุมชนและคนรอบข้าง ก็สามารถที่จะใช้ชีวิตตามปกติได้ และหากเมื่อใดที่มีอาการกำเริบ ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ปรับการรักษาก็จะทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุขและปลอดภัย
24 มีนาคม 2567