ภาพข่าว 29 1 67 011 

 

กรมสุขภาพจิต รุดลงพื้นที่เยียวยาเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายในโรงเรียนเขต กทม. แนะดูแลและสังเกตเด็กเพื่อลดความรุนแรง

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย “หมอชลน่าน” ห่วงผลกระทบด้านจิตใจเด็กและครูในโรงเรียนที่เกิดเหตุทำร้ายร่างกาย สั่งการกรมสุขภาพจิตส่งทีม MCATT ร่วมกับทีมของ กทม. ดูแลเยียวยาจิตใจต่อเนื่อง ชี้ความก้าวร้าวเกิดจากหลายปัจจัย ต้องช่วยชี้แนะให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ พร้อมสังเกตสัญญาณที่สื่อว่าจะมีความรุนแรง

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุการณ์นักเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งย่านพัฒนาการ 26 เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ถูกทำร้ายร่างกายและเสียชีวิตขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงผลกระทบด้านจิตใจทั้งเด็กๆ และบุคลากรครูในโรงเรียนอย่างมาก ในวันนี้ (30 มกราคม 2567) จึงได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 37 สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าว โดยวางแผนประเมินสุขภาพใจและให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้นกับนักเรียนและบุคลากรครู ทั้งสิ้น 67 คน แบ่งเป็น นักเรียน 55 คน และบุคลากรครู 12 คน เบื้องต้นพบว่านักเรียน 36 คน และครู 12 คน มีภาวะความเครียด ได้ให้การปรึกษารายบุคคล รวมถึงวางแผนร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลเยียวยาจิตใจในระยะยาวต่อไป โดยจะส่งเจ้าหน้าที่จาก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เข้าร่วมปฏิบัติงานเพิ่มเติม

            นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า สาเหตุของความก้าวร้าวมักเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยส่วนตัวที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์ การจัดการความโกรธ ความใจร้อนหุนหันพลันแล่น หรือเป็นโรคที่ยับยั้งชั่งใจ คุมตัวเองยาก ปัจจัยจากครอบครัวที่มีความก้าวร้าวทางร่างกาย วาจา อารมณ์ ทำให้เรียนรู้ว่าสามารถแก้ไขความไม่พอใจด้วยความก้าวร้าวได้ หรืออาจดูแลตามใจจนเด็กไม่ได้ฝึกควบคุมตนเอง เมื่อไม่พอใจก็แสดงความก้าวร้าวใส่ผู้อื่น ปัจจัยทางโรงเรียน สังคมรอบตัว เช่น การกลั่นแกล้งรังแก การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรง การใช้สารเสพติด เป็นต้น รวมทั้งปัจจุบันยังมีปัจจัยด้านสื่อออนไลน์ ที่สามารถสร้างอารมณ์การเกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น การแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงจึงต้องแก้ทุกปัจจัยไปพร้อมกัน ทั้งนี้ มีข้อแนะนำในการทำให้เด็กรู้อารมณ์และจัดการอารมณ์ ดังนี้ 1.ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด 2.ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง เช่น ฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ 3.ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขณะที่ครอบครัวต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสม คือ 1.ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก และอาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ 2.ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว 3.หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งไม่ข่มขู่ หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ

            ด้าน แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วิธีการสังเกตว่าจะมีความรุนแรง คือ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เช่น คิดว่าตนเองไม่ดี คนอื่นไม่ดี คิดอยากทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น อารมณ์หงุดหงิดง่าย หรือ ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าว พูดคำหยาบคาย หรือแยกตัว ซึ่งหากสงสัยว่าบุตรหลานของตนอาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีข้อแนะนำดังนี้ 1.สังเกตร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย พฤติกรรม หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เช่น มีอาการหวาดกลัว มีพฤติกรรมถดถอย ก้าวร้าว ซึมเศร้า หรือกลัวการแยกจากผู้ปกครองมากขึ้น 2.ใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อสารโดยไม่ด่วนตัดสิน อาจเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ เช่น “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง” “วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด” และเมื่อสงสัยว่าลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น “ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ เราจะได้ช่วยกัน” ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเล่าหรือตอบได้ อาจใช้ศิลปะหรือการเล่นผ่านบทบาทสมมุติเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสื่อสารได้ 3.สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ให้ลูกสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ หลีกเลี่ยงการใช้การลงโทษที่ใช้ความรุนแรงทางกายและทางอารมณ์ เน้นการใช้แรงเสริมทางบวกเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ดีแทน และหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

*********************************** 30 มกราคม 2567