Press ข่าววันที่ 29 มกราคม 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 805
อนุทินย้ำ พลังใจของผู้สูงวัย คือพลังสำคัญของชุมชน เร่งรวมพลัง อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมสุขภาพจิต คัดกรองดูแลจิตใจผู้สูงวัยถึงบ้าน
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารสาธารณสุขทั่วประเทศ ร่วมมอบของขวัญแก่ผู้สูงอายุพร้อมกันทั่วประเทศ โดยจัดงานในทุกเขตสุขภาพหลังการถ่ายทอดสดนโยบายในพิธีเปิดจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในการนี้ มีการแสดงความยินดีกับผู้สูงอายุ มอบของขวัญปีใหม่ 2566 ได้แก่ การสนับสนุนอุปกรณ์จำเป็น อาทิ แว่นตา ผ้าอ้อม ฟันเทียม การตรวจคัดกรองสุขภาพกาย สมองและจิตใจเชิงรุก และการเปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุในรพ. บูรณาการงานทีม 3 หมอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้อย่างเป็นระบบทั่วถึง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพบว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12.5 ล้านคน (ร้อยละ 18.8 ของประชากรทั้งประเทศ) รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ในการเตรียมประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ปี 2566 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เป็น“ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” และมีนโยบายมอบบริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุให้เข้าถึงบริการอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้สูงวัยเสริมพลังกาย พลังใจ ไม่รู้สึกเป็นภาระ แต่เป็นพลังสำคัญของครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้ยังได้พบปะพูดคุยมอบกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุหญิงวัย 67 ปี ซึ่งเคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้าแล้วได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจากทีม 3 หมอจากอำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา จนอาการดีขึ้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติและสามารถแบ่งปันประสบการณ์จากการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เป็นกำลังใจแก่บุคคลอื่นได้ดี พร้อมกันนี้ขอชื่นชมกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เสริมพลังใจอสม.และทีม 3 หมอในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตต่อไป ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้เน้นย้ำให้ความสำคัญการคัดกรองเรื่องสุขภาพจิตควบคู่กับสุขภาพกาย ทำงานประสานงาน หมอคนที่ 1 คือ อสม.หมอคนที่ 2 คือ ทีมสุขภาพจาก รพ.สต.และหมอคนที่ 3 คือ แพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนหรือรพช.ที่สามารถดูแลต่อเนื่องและส่งต่อถึง รพท.รพศ.และ รพ.เฉพาะทาง อย่างเป็นระบบ
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า กรมสุขภาพจิตได้บูรณาการพัฒนาแบบคัดกรองสุขภาพเพื่อค้นหาความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ โดยใช้แบบคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ด้วย Blue Book Application ร่วมกับกรมอนามัย และ แบบคัดกรองของ Smart อสม. ผลการดำเนินการคัดกรอง ณ วันที่ 21 มค 2566 ได้ครอบคลุมผู้สูงอายุจำนวน 380,060 คน (ร้อยละ 7.78 ของผู้สูงอายุทั้งหมด) พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการคัดกรองเรียงลำดับตามความถดถอยของจากมากไปน้อย ได้แก่ 1.การเคลื่อนไหวร่างกาย 2.ภาวะสมองเสื่อม 3.สุขภาพช่องปาก 4.การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน 5.การได้ยิน 6.การกลั้นปัสสาวะ 7.การมองเห็น 8.การขาดสารอาหาร 9.ด้านซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบมีความเสี่ยงนี้จำนวน 20,508 คน (ร้อยละ 5.4) ในการนี้ ได้พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตที่ต้องติดตามต่อเนื่อง จำนวน 20,508 คน (ร้อยละ 5.4) และในจำนวนนี้ พบเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 85 คนและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 49 คน จึงดำเนินการส่งต่อพบแพทย์เพื่อการดูแลรักษาต่อเนื่อง และรุดหน้าทำการคัดกรองให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทั่วประเทศให้มากที่สุด ทั้งนี้ ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งได้แก่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์และ สุรินทร์ เป็นเขตที่มีความก้าวหน้าในการคัดกรองได้กว้างขวางที่สุด ซึ่งกรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาและศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ได้สนับสนุนให้เครือข่ายสาธารณสุขและ อสม. ดูแลผู้สูงอายุได้ถึง 216,344 คน พบมีความเสี่ยงสุขภาพจิต จำนวน 11,172 คน (ร้อยละ5.16) และประเมินพบความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า พบจำนวน 22 คนและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จำนวน 6 คน ทั้งนี้ผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายทั้ง 28 คนนี้ เขตสุขภาพที่ 9 ได้มอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ครอบครัว พี่น้อง อสม. และสมาชิกในชุมชน ยังสามารถค้นหาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้ โดยใส่ใจสังเกตอาการที่พบบ่อย 4 อาการ ได้แก่ นอนไม่หลับ จำไม่ดี มีกังวล หรือมีการบ่นเบื่อหน่ายและซึมเศร้า และผู้ใกล้ชิดสามารถใช้วิธีการสื่อสาร ให้คำแนะนำช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนี้ 1.การซักถามถึงสาเหตุ อาการ ผลกระทบ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและวิธีการปฏิบัติตัว 2.การชื่นชมให้กำลังใจ ผู้สูงอายุและคนใก้ชิด ในความพยายามหาช่องทางดูแลกายและใจ และ3.การแนะนำเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้มีการแก้ปัญหาไม่เหมาะสมเช่น ซื้อยานอนหลับกินเอง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุและครอบครัวยังสามารถปรึกษาหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์หรือผู้รู้ด้านสุขภาพหรือแพทย์ ณ หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าใจการดูแลสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ของขวัญปีใหม่ปีนี้จะเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ช่วยขับเคลื่อนการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยร่วมส่งเสริมทั้ง “สุขภาพ”ผู้สูงอายุ และเพิ่ม “ความสุข” ให้แก่ครอบครัว เพื่อร่วมเป็นพลังสังคมต่อไป
ของขวัญที่ดีที่สุด คือ การมีสุขภาพแข็งแรง และ มีความสุข
******************** 29 มกราคม 2566