Press ข่าววันที่ 22 มกราคม 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1307
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดขาดการรักษา ชี้ ต้องดูแลติดตามต่อเนื่องเพื่อป้องกันอาการกำเริบจนก่อความรุนแรง ญาติต้องหมั่นสังเกตอาการและการกินยา เน้นพบแพทย์ตามนัด
วันที่ 22 มกราคม 2566 กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการ ณ หน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิตที่ขาดการรักษาตามนัดเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยขาดการประเมินอาการและขาดการรับยาต่อเนื่อง ย้ำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งดูแลติดตามส่งต่อข้อมูลสร้างระบบเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน ญาติผู้ใกล้ชิดตระหนักสังเกตผู้ป่วยและมารักษาตามนัด จะช่วยระงับอาการจิตเวชกำเริบและลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคมได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้ให้บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาสพติดทุกกลุ่มวัยและทุกกลุ่มโรคทางจิตเวช โดยอาการทางจิตเวชเป็นผลจากระบบสารเคมีในสมองผิดปกติจนมีอาการ ด้านความคิด อารมณ์ พฤติกรรมที่รับรู้ต่างจากความเป็นจริง และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาที่ออกฤทธ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาท ให้กลับสู่ภาวะปกติและเสถียรโดยเร็วและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นคืนสภาวะจิตใจใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขและมีคุณค่าในสังคม ทว่าจากการสำรวจสถานการณ์และฐานข้อมูลของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ในหน่วยบริการกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2565 พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตผิดปกติ 47,957 ราย ขาดรับตรวจตามนัดภายใน 6 เดือนถึงร้อยละ 17.17 ขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตเภท 57,754 ราย ขาดการติดตามนัด ร้อยละ 8.34 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการกินยาอาจไม่เหมาะสมหรือไม่ต่อเนื่องได้ เพราะในบางรายเมื่อขาดยาจิตเวชจะทำให้ขาดการควบคุมอารณ์ ขาดสติและในกรณีผู้เสพติดจะหวนกลับใช้ยาเสพติดซ้ำได้ง่าย ซึ่งสัมพันธ์กับการก่อเหตุรุนแรงจนสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดไวรัส โควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ญาติดูแลใกล้ชิดได้ยากขึ้นและผู้ป่วยรับการรักษาตามนัดได้ไม่สะดวก อีกทั้งระบบให้บริการบางพื้นที่อาจมีอุปสรรคในการส่งต่อข้อมูลการดูแลผู้ป่วยและเชื่อมโยงเครือข่ายการติดตามไม่ได้เช่นเดิม กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเร่งผลักดันนโยบาย การใช้ยาจิตเวชแบบฉีดชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว(Long-acting)อย่างน้อย 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนเพื่อคุมอาการในกรณีผู้ป่วยไม่สะดวกรับยากินต่อเนื่อง การดูแลเชิงรุกด้านการตรวจรักษาสุขภาพจิตทางไกล (Telepsychiatry) และรถติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน รวมทั้งการร่วมผลิตจิตแพทย์และสหวิชาชีพด้านจิตเวชให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ต่อเนื่องดีขึ้นได้ในขณะนี้ คือการเร่งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ให้รับทราบและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย จัดทำแนวทางบูรณาการทรัพยากรและบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันดูแลติดตามฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างเป็นระบบ กระตุ้นครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชหมั่นใส่ใจดูแล พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ชุมชนและให้โอกาสส่งเสริมอาชีพผู้ป่วยจิตเวชทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ คงไว้ซึ่งการรักษาต่อเนื่อง เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นและลดปัญหาความรุนแรง
แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวว่า ญาติและผู้ใกล้ชิดเป็นผู้เสียสละทุ่มเทเวลา ใช้พลังกายและพลังใจในการใส่ใจดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ทั้งการกินยาสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด รับฟังให้กำลังใจ ไม่กระตุ้นอารมณ์ ทำความเข้าใจยอมรับเพื่อช่วยผู้ป่วยฯปรับอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่เหมาะสมและร่วมพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งครอบครัวสามารถสังเกตอาการสัญญานเตือนแสดงความผิดปกติหรืออาการกำเริบได้ดังนี้; ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว คิดหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น แยกตัวออกจากสังคม อยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น ในส่วนข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยจิตเวชนั้น ควรดูแลสุขลักษณะ พักผ่อนเพียงพอ ดูหนังหรือเล่นเกมออน์ไลน์ไม่นานเกินไป พยายามทำกิจกรรม ออกกำลังกาย ทำงาน งดเสพสิ่งมึนเมา สารกระตุ้นหรือยาเสพติด และห้ามมีอาวุธหรือวัตถุที่เป็นอาวุธได้ในที่พัก ผู้ป่วยและญาติควรช่วยกันฝึกวินัยการกินยาต่อเนื่อง สังเกตอาการข้างเคียงของยาและมาพบแพทย์ตามนัดหรือทันทีหากพบอาการผิดปกติ ส่วนชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล สามารถเป็นหูเป็นตา สอดส่องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวหรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต1323 สำหรับประชาชนที่พบเจอผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่ออันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โปรดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือแจ้งสายด่วนตำรวจ 191 หรือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)สายด่วน1669 หรือมูลนิธิฯกู้ชีพหรือกู้ภัยหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต เพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้
ผู้ป่วยจิตเวช รักษาต่อเนื่อง ญาติหมั่นดูแล งดสิ่งเสพติด >>> ไม่ขาดสติ ไม่ก่อความรุนแรง
******************** 22 มกราคม 2566