Press ข่าววันที่ 14 มกราคม 2566
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 799
กรมสุขภาพจิต เดินหน้ากิจกรรม “เติมสุข สร้างรอยยิ้ม หนองบัวลำภู” แก่เด็กและชุมชน ผันความรักความอาลัย สู่พลังใจให้สังคมก้าวเดินหน้า ด้วยคุณค่าแห่งสันติ
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 กรมสุขภาพจิตและเขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดหนองบัวลำภู จัดกิจกรรม“เติมสุข สร้างรอยยิ้ม หนองบัวลำภู” ภายใต้โครงการงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ สานสายสัมพันธ์ครอบครัว เสริมความเข้มแข็งทางใจให้ชุมชน สร้างสันติภาพสู่สังคม และร่วมกันฟื้นฟูจิตใจประชาชนผู้รับรู้เหตุการณ์ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ให้เกิดพลังใจก้าวเดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงเวลา3เดือนกว่าที่ผ่านมา หลังการเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่อำเภอนากลาง ทีมกรมสุขภาพจิตและทีมสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8และเครื่อข่ายภาคีทุกภาคส่วน ได้ดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความรับรู้เข้าใจให้กับประชาชนที่สำคัญ คือความรู้สึกรักอาลัยนั้นจะไม่หยุดการดำเนินชีวิตให้ชะงักงัน ทว่าจะแปรผันเป็นพลังใจให้ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยการเห็นคุณค่าในการสร้างสันติภาพของสังคม และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ให้มองความความขัดแย้งนำไปสู่การลงโทษทางวินัยหรือทางกฎหมาย แต่ตระหนักว่าความขัดแย้งนั้นเป็นพื้นฐานของปัญหาสุขภาพจิต ที่ทุกคนในชุมชนต้องใส่ใจดูแล ดังสะท้อนจากสรุปผลรายงานการดำเนินการเยียวยาจิตใจเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 โดยทีม MCATT ร่วมกับ สสจ.หนองบัวลำภู รพ.สต.และอสม.ประจำครอบครัว 48 ครอบครัวที่เฝ้าระวัง ที่ไม่พบการทำร้ายตนเองและการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่รุนแรง บุคคลในครอบครัวสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีเพียง4ครอบครัวที่ต้องดูแลติดตามเนื่องจากความเครียดที่ยังหลงเหลือและผลกระทบทางร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการและป่วยด้วยโรคทางกายร่วมด้วย และผลการดำเนินงานโครงการคืนรอยยิ้มเมื่อเดือนธันวาคม2565ที่ผ่านมาในทั้ง2โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทีม MCATT จัดกิจกรรมได้แก่ 1.กิจกรรมการคัดกรองโดยแบบประเมินCRIES-8 (Child Revised Impact of Events Scale) 2.กิจกรรม“การอยู่กับปัจจุบัน”คือการรับรู้และการจัดการกับอารมณ์ 3.กิจกรรม“ก้าวข้ามอดีต”คือการจัดการความกลัว ความเจ็บปวดและ 4.กิจกรรม“เดินสู่ฝัน”คือการเสริมพลังสร้างแรงจูงใจ ซึ่งผลประเมินผลกระทบต่อเด็กหลังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยแบบประเมิน CRIES-8 ในเด็กปฐมศึกษา พบว่ามีเด็ก1ใน3 ที่มีความเสี่ยง ส่วนเด็กชั้นอนุบาลได้รับการประเมิน EQ (Emotional Quotient) พบว่ามีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณร้อยละ10-20 ซึ่งได้จัดให้นักจิตวิทยาร่วมกับจิตแพทย์เฝ้าระวังดูแลรายบุคคล จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าเด็กที่อาการแย่ลง กรมสุขภาพจิตนำทีมโดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จัดกิจกรรมเติมสุขเพื่อสร้างรอยยิ้ม ณ ศพด.อบต.ท่าอุทัย แก่เด็กเล็กก่อนอนุบาลในพื้นที่เสี่ยงให้ได้รับการประเมินพัฒนาการรอบด้านและมีกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเป็นระยะๆ ด้วยกิจกรรม กิน กอด เล่น เล่า(นิทาน) เพื่อเน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่า รอยยิ้ม แววตามีสุข ร้องเพลงและกระโดดเล่นกันอย่างสนุกสนานของเด็กๆเป็นพลังใจบริสุทธิ์ช่วยสมานชุมชนให้เกิดสันติ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตยังคงเป็นกำลังใจร่วมดูแลฟื้นฟูจิตใจและให้ความรู้สรรค์สร้างสังคมมีสุขต่อไป โดยทีม MCATT โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์และทีมกรมสุขภาพจิต มีแผนดำเนินการเยียวยาต่อเนื่องได้แก่ 1.ติดตามเยี่ยมกลุ่มประชาชนรับผลกระทบที่เสี่ยงสูงหรือเสี่ยงปานกลางจนกว่าจะหมดความเสี่ยงหรือเสี่ยงต่ำ 2.ประเมินความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพจิตซ้ำกลุ่มที่อาจจะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต 3.ส่งต่อรายที่อาการทุเลารับยาต่อเนื่องเข้าระบบของพื้นที่ 4.เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่พื้นที่ในรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน 5.ให้บริการเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตโดยทีมสหวิชาชีพ เดือนละ1ครั้ง 6.รณรงค์สำรวจเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตด้วยการใช้แอปปริเคชั่นไลน์ Mental Health Check-in (MHCI) 7.จัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมในชุมชน 8.การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตการดูแลจิตใจหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 9.รายงานผลการติดตามอย่างเป็นระบบและ10.การส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจหรือวัคซีนใจในชุมชน ทั้งนี้แผนการสร้างวัคซีนใจในชุมชนนากลางประกอบด้วย“4 สร้าง 2 ใช้”คือ1.สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับชุมชน 2.สร้างความรู้สึกสงบในชุมชน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเชื่อถือได้สม่ำเสมอ 3.สร้างความหวังในชุมชน 4.สร้างความเข้าใจและให้โอกาส เสริมความรอบรู้ดูแลจิตใจตนเองและผู้อื่น รวมทั้ง 1.ใช้ศักยภาพของชุมชน จัดทีมสื่อสาร,จัดสวัสดิการเยียวยาจิตใจ ดูแลกลุ่มเปราะบางและทำแผนแก้ปัญหาสุขภาพจิต และ2.ใช้สายสัมพันธ์ในชุมขน จัดให้ทำกิจกรรมร่วมกันและสร้างขวัญกำลังใจ
กรมสุขภาพจิต มั่นใจอย่างยิ่งว่าภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายสุวิทย์ จันทร์หวน และภายใต้น้ำจิตน้ำใจที่ยิ่งใหญ่นายกอบต. นายดนัยโชค บุญสม ผู้นำชุมชนทุกท่านและเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกอย่างจะเดินหน้าไปอย่างแข็งแกร่ง และหวังว่าท่านจะมีรอยยิ้มที่เพิ่มขึ้น และเป็นพลังใจให้ทีมงานเข้มแข็ง ขอให้กำลังใจคุณครู แล้วก็ฝากความรักไปถึงเด็กๆและผู้ปกครองทุกคน ให้สถาบันครอบครัวเปี่ยมล้มด้วยความเข้มแข็งทางใจ สร้างค่านิยมให้เด็กรักและชุมชนรักสันติภาพและความสุขสงบอย่างยั่งยืน พร้อมส่งมอบพลังใจช่วยเหลือสังคมต่อไป ความสุขวันเด็ก “ผันความรักความอาลัย สู่พลังใจสร้างสันติ” 14 มกราคม 2566