Press ข่าววันที่ 10 มกราคม 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1264
ปลัด สธ. ปลื้ม โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ร่วมใจเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ
วันนี้ (10 มกราคม 2566) กระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนด้านการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีอาการรุนแรงยุ่งยากและซับซ้อน เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งต่อตามระบบสาธารณสุข รพศ.และรพท.ทุกเขตสุขภาพจึงพร้อมใจกันขับเคลื่อนเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จึงขอประชาชนมั่นใจได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดใกล้บ้าน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สืบเนื่องจากการมอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม มอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพื่อดูแลรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในเขตสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานและดูแลต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อได้ในชุมชนโดยกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับสูงและผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกท่านได้ร่วมใจมุ่งมั่นดำเนินการ โดยภายในระยะเวลาเดือนกว่ามานี้สามารถเปิดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 94 แห่งใน 69 จังหวัดซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปลายปี 2565 เดิมมีเพียง 33 จังหวัด จึงขอแสดงความชื่นชมพี่น้องชาวสาธารณสุขที่ช่วยกันร่วมแรงกำลัง ทั้งการสนับสนุนด้านกายภาพการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด การอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการบริหารจัดการอัตรากำลังการดูแลผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน นับว่าเป็นโอกาสสำคัญในการขยายพัฒนาการบริการสุขภาพจิตเวชและยาเสพติดเชิงรุกได้อย่างก้าวกระโดดสู่พื้นที่ทุกจังหวัด ทำให้ผู้รับบริการและครอบครัวเข้าถึงการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพจิตอย่างปลอดภัยและได้รับการส่งต่อเข้าในระบบบริการสุขภาพตามสิทธิการรักษาอย่างเป็นระบบ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อการดูแลและนำส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V (Severe Mental Illness – High Risk to Violence ) Care) รวมทั้งพัฒนาการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อภายใต้กลไกความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขสอดรับนโยบายท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้จึงขอขอบคุณรพศ.และรพท. ที่ได้สนับสนุนการดำเนินการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตเวชและยาเสพติดอย่างเต็มที่มาโดยตลอด นอกจากการจัดให้มีระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในภาวะวิกฤติเพื่อรับไว้พักสงบอาการทางจิตแล้ว ยังให้การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยในระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรงหรือภาวะอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การมอบรางวัลเกียรติบัตรในครั้งนี้เพื่อประกาศการเชิดชูเกียรติความสำเร็จให้ประชาชนได้ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นในการบริการด้านสุขภาพจิตอย่างเต็มกำลังของรพศ.และรพท. โดยรางวัลจำแนกตามความครอบคลุมของรพศ.และรพท. ที่สามารถเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดของแต่ละเขตสุขภาพดังต่อไปนี้ กลุ่มที่1 รางวัลเกียรติบัตรเหรียญทอง คือ เขตสุขภาพที่สามารถเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครอบคลุมทุกรพ. ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 3 (นครสวรรค์,พิจิตร,กำแพงเพชร,ชัยนาท,อุทัยธานี) และเขตสุขภาพที่ 12 (สงขลา,ปัตตานี,พัทลุง,ยะลา,สตูล,ตรัง,นราธิวาส) กลุ่มที่ 2 รางวัลเกียรติบัตรเหรียญเงิน คือ เขตสุขภาพที่สามารถเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครอบคลุมทุกจังหวัด ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 2 (ตาก,อุตรดิตถ์,พิษณุโลก,เพชรบูรณ์,สุโขทัย), เขตสุขภาพที่ 5 (ราชบุรี,นครปฐม, สมุทรสาคร,สมุทรสงคราม,กาญจนบุรี,เพชรบุรี,ประจวบคีรีขันธ์,สุพรรณบุรี), เขตสุขภาพที่ 7 (กาฬสินธุ์,ร้อยเอ็ด,ขอนแก่น,มหาสารคาม), เขตสุขภาพที่ 9 (ชัยภูมิ,บุรีรัมย์,สุรินทร์,นครราชสีมา) และเขตสุขภาพที่ 10 (มุดาหาร,ยโสธร,ศรีสะเกษ,อุบลราชธานี,อำนาจเจริญ) กลุ่มที่ 3 รางวัลเกียรติบัตรเหรียญทองแดง คือ เขตสุขภาพที่สามารถเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดมากกว่าร้อยละ50ของรพศ.และรพท.ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1(เชียงราย, น่าน,พะเยา,ลำปาง,แพร่,เชียงใหม่,แม่ฮ่องสอน) , เขตสุขภาพที่ 4 (ลพบุรี,นนทบุรี,พระนครศรีอยุธยา,อ่างทอง,นครนายก,สิงห์บุรี), เขตสุขภาพที่ 6 (จันทบุรี,ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,ตราด,ปราจีนบุรี,สมุทรปราการ,สระแก้ว), เขตสุขภาพที่ 8 (สกลนคร,หนองคาย,หนองบัวลำภู,อุดรธานี,บึงกาฬ, นครพนม)และเขตสุขภาพที่ 11 (นครศรีธรรมราช,ภูเก็ต,สุราษฎร์ธานี,พังงา,กระบี่) และกลุ่มที่ 4 รางวัลเกียรติบัตรสำหรับเขตสุขภาพที่สามารถเร่งรัดเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครบทุกรพ. สำเร็จภายใน 1 สัปดาห์ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 5 และ 8
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิต เชื่อมั่นว่าบุคลากรสาธารสุขจะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการดูแลบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้สามารถคืนสุขภาวะทางกายและใจอยู่ได้ในชุมชน กรมสุขภาพจิตยินดีเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนด้านวิชาการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการดูแลรักษาและพร้อมรับส่งต่อผู้ป่วยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่อง รวมทั้งบูรณาการภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกสาธารณสุข
ใกล้บ้าน ใกล้ใจ สาธารณสุขพร้อมให้บริการดูแลสุขภาพจิตประชาชน
***** 10 มกราคม 2566