Press ข่าววันที่ 25 พฤศจิกายน 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 671
กรมสุขภาพจิต ร่วมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พ.ย. ภายใต้แนวคิด “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ส่งต่อความห่วงใยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว พร้อมปลูกฝังค่านิยมไม่ยอมรับความรุนแรงในสังคม
วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2565) กรมสุขภาพจิต ส่งต่อความห่วงใยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว แนะคนใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรม ปลูกฝังค่านิยมไม่ยอมรับความรุนแรงในสังคม “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว โดย มีทั้งการทำร้ายทางร่างกาย ทำร้ายทางวาจา ทำร้ายทางจิตใจ จากบุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือผู้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันผลกระทบจากการที่ถูกกระทำความรุนแรง สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและจิตได้อย่างมาก เช่น ปัญหาการนอน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรค PTSD ร้ายแรงที่สุดเด็กสามารถทำร้ายร่างกายตนเองได้ เด็กและเยาวชนที่แม้ไม่ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง เพียงแค่เห็นสมาชิกในครอบครัวถูกกระทำความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน จะส่งผลกระทบไม่ต่างกับเด็กที่ถูกกระทำโดยตรง โดยในเด็กผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยาในอนาคต เนื่องจากเด็กจะฝังใจเรื่องความรุนแรงและอาจจะเข้าใจผิดว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง สัญญาณเตือนของความรุนแรงนั้นจึงควรหมั่นสังเกตุบุคคลคนรอบข้าง หากพบว่าคนใกล้ชิดมีร่องรอยการถูกทำร้ายบนร่างกาย เช่น รอยช้ำ รอยถลอก บาดแผลต่าง ๆ รวมถึงมีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้าผิดปกติ ไม่กล้าสบตา ไม่กล้าขัดใจคนในครอบครัวหรือคู่ครองของตนเอง ไม่อยากเข้าสังคมหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมือนแต่ก่อน ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าบุคคลดังกล่าวกำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอยู่ การสร้างครอบครัวให้ห่างไกลความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเริ่มจากตัวเราและสมาชิกทุกคนให้มีความเข้าใจเรื่องความรุนแรงที่ตรงกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ใช้การสื่อสารเชิงบวก เคารพและให้เกียรติ ให้ความรัก เอาใจใส่ ควบคุมอารมณ์ ให้อภัยซึ่งกันและกัน เคารพบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเน้นการให้รางวัลและแรงเสริมทางบวกเมื่อทำดีมากกว่าการลงโทษทางกายอย่างรุนแรงเมื่อทำผิดพลาด รู้จักปฏิเสธ หลบเลี่ยงและขอความช่วยเหลือกรณีมีคนมาใช้ความรุนแรงกับตนเอง
นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสุขภาพจิต กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต มุมมองที่จะเปลี่ยนแปลงความรุนแรง ให้มองด้านบวกด้วยความเข้าใจยอมรับความหลากหลาย คิดและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช้สุราและสารเสพติด รวมทั้งเสริมสร้างพลังใจด้วยหลัก “อึด ฮึด สู้” “อึด” ความสามารถที่เกิดในตัวบุคคล วิธีคิด ค่านิยม อย่างสร้างสรรค์ด้านบวก “ฮึด” มีบางสิ่งที่สนับสนุนที่ช่วยผลักดันในการจัดการกับปัญหาได้ “สู้” ความสามารถในการต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤตความรุนแรง “อึด ฮึด สู้” เป็นพลังสุขภาพจิตที่มีความสำคัญที่ช่วยให้คนไทยต่อสู้เอาชนะปัญหาความรุนแรงต่างๆ ได้
ทั้งนี้หากพบเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวไม่ควรเพิกเฉย สามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น การโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 สอดส่องดูแลบุคคลใกล้ชิดไม่ให้ใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวหรือชุมชนหากพบผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากความรุนแรงนั้นสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
หยุดความรุนแรง เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของสตรีและเด็ก
**************** 25 พฤศจิกายน 2565