Press ข่าววันที่ 22 สิงหาคม 2565
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1350
กรมสุขภาพจิต ชี้ไม่สามารถอ้างความเป็นผู้ป่วยจิตเวชเพื่อละเว้นจากการรับผิดเมื่อก่อคดี พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชประกอบการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (22 สิงหาคม 2565) จากกรณีผู้กระทำความผิดที่อ้างความเป็นผู้ป่วยจิตเวชขอละเว้นการรับโทษตามกฎหมาย ได้สร้างความวิตกในสังคม ถึงการระบุความรับผิดชอบที่ผู้ก่อเหตุควรจะได้รับ กรมสุขภาพจิตชี้การดำเนินคดีกับผู้ก่อคดีที่อ้างความเป็นผู้ป่วยทางจิตแม้จะมีประวัติการรักษาอยู่แล้วก็ตาม กฎหมายมีข้อกำหนดให้ทำการตรวจประเมินทางนิติจิตเวช เพื่อรับรองสภาวะทางจิตจากสถานพยาบาลประกอบการพิจารณาโทษตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมเชิญชวนสังคมร่วมสอดส่องหากพบเห็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต มีภาวะอันตรายหรือต้องได้รับการบำบัดรักษาให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยส่วนมากแล้วผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตทั่วไประดับที่ไม่รุนแรงแม้มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองที่สูงกว่าคนทั่วไปก็ตาม แต่ความเสี่ยงในการทำร้ายผู้อื่นมักไม่ต่างจากสถิติในประชากรโดยรวมการด่วนสรุปว่าคดีสะเทือนขวัญต่างๆเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตทั่วๆไปเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ความตื่นตระหนกและอาจสร้างตราบาปต่อผู้ที่กำลังบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตอยู่ในสังคม เพราะในทางปฏิบัติความเจ็บป่วยทางจิตที่จะมีผลต่อการรับโทษ เขียนไว้ชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 65 ซึ่งผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น เพียงแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น นั่นหมายถึง ต่อให้มีใบรับรองว่าป่วยทางจิต หรืออยู่ในกระบวนการรักษา ก็ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าความเจ็บป่วยนั้นส่งผลต่อความสามารถในการรู้ผิดชอบ หรือการควบคุมตนเองมากน้อยแค่ไหน เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่รักษาจนบรรเทาแล้วไปก่อคดีฆาตกรรมก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุยกเว้นการรับโทษหรือรับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชทางการแพทย์
เป็นกระบวนการหนึ่ง ศาลจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา
นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดพบผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือมีความผิดปกติทางจิต มีภาวะอันตรายหรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา สามารถดำเนินการตามมาตรา 26 ที่ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีฉุกเฉินหากได้รับแจ้งว่ามีบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต หรือพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีภาวะอันตราย
และเป็นอันตรายใกล้จะถึง ให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ โดยบุคคลที่สามารถนำตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้ ได้แก่ (1) พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข (2) พนักงานฝ่ายปกครอง เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ (3) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่พบบุคคลที่มีอาการทางจิต แต่ยังไม่ได้กระทำความผิด เช่น เดินพูดคนเดียว บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวส่งสถานพยาบาลตามมาตรา 24 อีกด้วย
กรมสุขภาพจิต ขอสังคมให้ความสนใจต่อเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างตระหนักแต่ไม่ตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากเหตุโศกนาฏกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยจิตเวชเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ขอให้เชื่อมั่นในการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งหากประชาชนพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ ให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
*********************** 22 สิงหาคม 2565