press120764

 

 

          “กรมสุขภาพจิต” จัดงานสัมมนาพัฒนาระบบสุขภาพจิต ดึงศักยภาพสายใยรักครอบครัวและชุมชนสู่การออกแบบสร้างภูมิคุ้มกันทางใจในพื้นที่ พร้อมขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม หลังนำร่องสำเร็จไปกว่า 7,300 ชุมชนทั่วประเทศ

          วันนี้ 12 กรกฎาคม 2564 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาการพัฒนาระบบสุขภาพจิตปฐมภูมิสู่การเป็นเลิศด้านการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (New normal) ณ ห้องประชุมอาคาร 1 ชั้น 4 กรมสุขภาพจิต พร้อมทั้งมอบนโยบายทิศทางการเสริมสร้างวัคซีนใจควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีนทางกายเพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้งานสัมมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2564 โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การนำเสนอผลงานวัคซีนใจ 5 แห่ง ผ่านระบบ Online การนำเสนอผลการเสริมสร้างวัคซีนใจ 3 ห้องย่อย ทั้งในระดับชุมชน สถานประกอบการ/องค์กร และระดับพื้นที่

          พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทำให้คนไทยเกิดมีความเครียดสะสม กระทบต่อปัญหาสุขภาพจิต วิตกกังวล ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย ฯลฯ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิตจึงได้พัฒนาแนวทางการเสริมสร้างวัคซีนใจ ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนขึ้นมา ไปพร้อมกับช่วงที่เริ่มมีการกระจายวัคซีนทางกายไปยังประชาชน มุ่งเป้าเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจให้กับประชาชนทุกระดับ โดยใช้มาตรการในชุมชน ได้แก่ 1.สร้างความรู้สึกปลอดภัยในชุมชน 2.สร้างความรู้สึกสงบในชุมชน 3.สร้างความหวังในชุมชน และ 4. สร้างความเข้าใจและให้โอกาสคนในชุมชน ร่วมกับใช้ศักยภาพและสายสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาและออกแบบการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ในชุมชนและลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวได้

          พญ.พรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางนี้จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ สำหรับการดำเนินงานวัคซีนใจ ในชุมชนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 มีชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้และร่วมขับเคลื่อน กว่า 1,121 ชุมชน และได้ขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในปี 2564 จนปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าถึงองค์ความรู้เรื่องวัคซีนใจและนำไปดูแลสุขภาพจิต จัดให้มีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ให้กับประชาชนมากกว่า 7,300 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 จะมีชุมชนที่ถือเป็นต้นแบบ  ที่ขับเคลื่อนการเสริมสร้างวัคซีนใจอย่างเต็มรูปแบบกว่า 1,131 ชุมชน ทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ กิจกรรมสัมมนาการพัฒนาระบบสุขภาพจิตปฐมภูมิสู่การเป็นเลิศด้านการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนภายใต้ วิถีชีวิตใหม่ (New normal) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดเวทีให้เครือข่ายที่มีการดำเนินงานวัคซีนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อต่อยอดการดำเนินงานของตนเอง ที่สำคัญจะเป็นการขยายพื้นที่ดำเนินงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เวทีครั้งนี้คาดหวังว่าภาคีเครือข่าย จะมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชน และให้ความร่วมมือขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างวัคซีนใจในชุมชน นำไปสู่ภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางใจ สามารถเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างเข้มแข็ง และจัดการกับปัญหาเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี

****************** 12 กรกฎาคม 2564