Press130564

กรมสุขภาพจิต แนะแนวทางการดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่น หากเกิดสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในครอบครัว

     กรมสุขภาพจิตแนะ 7 แนวทางการดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่น เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในครอบครัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่มากขึ้น ส่งผลให้มีหลายครอบครัวที่เกิดการแยกจากกันระหว่างเด็กและผู้ดูแล การเตรียมความพร้อมในการดูแลเด็กจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดกับเด็กและวัยรุ่นได้

     วันนี้ (13 พฤษภาคม 2564) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่มากขึ้น โดยมีทั้งผู้ปกครองและเด็กในหลายครอบครัวติดเชื้อโควิด 19 และต้องไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลหรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ต้องเกิดการแยกจากกันระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อตัวเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละครอบครัวควรเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าหากเกิดสถานการณ์การติดเชื้อเช่นนี้ในครอบครัว ซึ่งแนวทางการดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่นที่เหมาะสมในสถานการณ์การติดเชื้อในครอบครัวนั้น ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้

     1. บอกเล่าเหตุการณ์ให้เด็กฟังอย่างตรงไปตรงมา เช่น เหตุการณ์ติดเชื้อโควิดของสมาชิกในบ้าน ทำให้ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ชั่วคราวเพราะอาจติดเชื้อกันได้ โดยมีการแนะนำว่าใครต้องไปอยู่ที่สถานที่ใด ระยะเวลานานประมาณเท่าใด

     2. ให้เด็กสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองได้อย่างสม่ำเสมอ โดยระหว่างที่แยกกันให้มีช่องทางที่สามารถติดต่อทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ได้เสมอ

     3. พยายามสอบถามถึงความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าและสามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้ เช่น ของที่ต้องการนำติดตัวไปด้วย เลือกช่วงเวลาที่จะติดต่อกันเป็นประจำ หรือตารางกิจกรรมประจำวัน

     4. แสดงความเข้าอกเข้าใจถึงอารมณ์และการแสดงออกของเด็ก โดยเด็กจะมีการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตหรือการแยกจากแตกต่างกันออกไป ผู้ปกครองควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ต่อว่า และไม่ด่วนตัดสิน

     5. ช่วยเหลือเด็กให้รู้จักและจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวเอง เช่น กลัว กังวล เศร้า และให้เด็กลองคิดกิจกรรมที่ช่วยจัดการอารมณ์ได้ด้วยตนเอง

    6. ช่วยให้เด็กสามารถคงกิจวัตรประจำวันคล้ายเดิมได้มากที่สุด เพื่อลดความรู้สึกถึงสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจตามมาจากการถูกบังคับให้ปรับตัวอย่างกระทันหัน

    7. สร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ดูแลเด็กในขณะนั้นเป็นที่พึ่งพิงให้เด็กได้ ทั้งในกรณีที่ตัวเด็กเองต้องไปอยู่ในสถานพยาบาล หรือเด็กต้องอยู่กับผู้ดูแลคนอื่นในขณะที่ผู้ปกครองหลักกำลังรักษาตัวอยู่ เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย สงบ และมั่นคง รวมไปถึงได้เห็นแบบอย่างที่ดีในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตได้

ทั้งนี้หากเด็กในการดูแลมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ หรือ กรณีในระหว่างแยกกักตัวหรือรักษาในสถานพยาบาลก็สามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบได้โดยทันที นอกจากนั้น ผู้ปกครองเองควรดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างใกล้ชิด จัดการอารมณ์ตนเองอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ลดการตำหนิหรือโทษตนเองในสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 โดยหากรู้สึกเครียดหรือไม่สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้ สามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

13 พฤษภาคม 2564

 แนวทางการดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่น เพื่อเต