Press ข่าววันที่ 21 มกราคม 2564
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 1344
กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ในการจำแนกภาวะซึมเศร้าจากเสียงพูด เพิ่มศักยภาพการให้การปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
วันนี้ (21 มกราคม 2564) กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวพร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ Ai-Depression โดยพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการจำแนกภาวะซึมเศร้าและความรุนแรงของอาการจากเสียงพูด เพื่อใช้ในการเพิ่มศักยภาพในการให้การปรึกษาและจัดระดับความเร่งด่วนในการดูแลผู้รับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต
มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 ได้มีการนำหมายเลขสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มาใช้อย่างเป็นทางการ โดยการให้บริการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น และให้การปรึกษาแก่ผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต การให้บริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตผ่านทางโทรศัพท์จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือกำลังประสบปัญหาวิกฤติในชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางแรกที่ประชาชนให้ความสนใจและใช้บริการอย่างแพร่หลายมาโดยตลอด ทำให้มีจำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้นทุกปี ดังเช่นในปี 2562
ผู้รับบริการจำนวน 87,605 ราย และในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 110,033 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.60
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่ออีกว่า หากใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการจำแนกภาวะซึมเศร้าจากเสียงพูด จะช่วยให้ผู้ให้บริการมีข้อมูลมากขึ้นจากการพูดคุยรูปแบบเดิม และสามารถจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของผู้รับบริการที่โทรศัพท์เข้ามาได้ โดยเฉพาะในรายที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง จะช่วยให้ทีมนักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถให้บริการรายที่เร่งด่วนกว่าได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา ช่วยลดอัตราและความเสี่ยงจากเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ โดยการศึกษาในครั้งนี้จะมีการขออนุญาตเพื่อทดสอบและเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานผ่านการขอรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อให้นวัตกรรมมีความแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อพัฒนาระบบเบื้องต้นเรียบร้อยจะดำเนินการทำวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้งานเพื่อให้นวัตกรรมมีความแม่นยำมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์ นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ รักษาการผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้โครงการ Ai-Depression ครั้งนี้ จะเป็นช่วยให้สามารถดำเนินการศึกษาเพื่อไปทำการทดสอบหรือการเก็บข้อมูลจริงกับกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย และพัฒนาให้งานวิจัยเกิดประโยชน์จริงในการนำไปใช้งานด้านสุขภาพจิตเพื่อประชาชนต่อไป
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพัฒนานวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีในการวางระบบดูแลช่วยเหลือในด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดระดับความเร่งด่วนในการดูแลผู้รับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสามารถทำให้เข้าถึงบริการในการในการรับคำปรึกษาได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
.............................................
21 มกราคม 2564