Press 0203683

 

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อห่างไกลอาการกำเริบ พร้อมแนะนำครอบครัว ชุมชน สังคมร่วม 5 สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง

     วันนี้ (3 มีนาคม 2568) จากข่าวน่าสลดที่มีผู้ป่วยมีประวัติทางจิตเวชและขาดยา อีกทั้งมีการใช้สารเสพติดก่อเหตุ จนทำคนในครอบครัวได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตนั้น กรมสุขภาพจิตห่วงใยผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดที่ขาดยา แล้วไปก่อความรุนแรงกับคนในสังคมโดยเฉพาะคนใกล้ชิด เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลและนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา พร้อมทั้งมีการติดตามอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดยา

      นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง (SMI - V) ไม่ยอมมารักษาตามที่แพทย์นัดเกิดจากการขาดยาและไปก่อความรุนแรงกับคนอื่น จึงอยากให้ญาติให้ความสำคัญกับการดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างสม่ำเสมอหากไม่สามารถบังคับได้หรือผู้ป่วยมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง หรือมีอาการกำเริบให้แจ้ง อสม. ผู้นำชุมชน หรือสายด่วน 1669 เพื่อช่วยกันนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตาม พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา 1. มีภาวะอันตราย 2. มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ในขณะที่ มาตรา 23 ระบุว่า ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการตามมาตรา 27 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวผู้ที่มีแนวโน้มจะก่ออันตรายต่อตนเองเข้าสู่กระบวนการรักษา

      นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้สัญญาณเตือนที่แสดงว่าผู้ป่วยอาจจะมีอาการกำเริบทั้งที่อาจจะรับประทานยาอยู่ หรือขาดยาสามารถใช้ระบบ SMI - V scan โดยสังเกต 5 สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชนำไปสู่การก่อความรุนแรง ได้แก่ 1. ไม่หลับไม่นอน 2. เดินไปเดินมา 3. หงุดหงิดฉุนเฉียว  4. พูดจาคนเดียว  5. เที่ยวหวาดระแวง รวมไปถึงระบบการแจ้งเตือนกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มาติดตามการรักษา โดยอาศัยความร่วมมือครอบครัว ชุมชน หน่วยงานของรัฐ ทั้งในระบบสาธารณสุข และนอกระบบสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังอาการเตือน ผู้ป่วยที่อาจจะมีแนวโน้มก่อความรุนแรงและรีบนำมาสู่การบำบัดรักษา ก่อนที่อาการทางจิตจะกำเริบรุนแรงจนเกิดภาวะอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

       นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดเมื่อได้รับการวินิจฉัย จากจิตแพทย์แล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกส่งตัวไปรับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน โดยโรงพยาบาลจิตเวชจะส่งข้อมูลผู้ป่วยทั้งยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานไปให้กับโรงบาลชุมชนเพื่อเกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รูปร่าง ลักษณะของยาอาจจะแตกต่างกันบ้างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นยาชนิดเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน ดังนั้น หากญาติหรือผู้ป่วยกังวลใจว่ายาที่ได้รับอาจจะไม่ใช่ยาเดียวกันให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน รวมทั้ง หากมีอาการข้างเคียงจากยา ไม่ควรหยุดยาเอง หรือขาดนัด ให้นำยาที่มีอยู่กลับมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยปรับยาให้ต่อไป

      โดยกรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันสังเกตคนใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือมีสัญญาณเตือน ควรสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการรักษา หรือ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อการรักษาต่อไป เพื่อให้คนที่ที่ทุกคนรักสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุขโดยประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

********************

 3 มีนาคม 2568