Press 100967 วันป้องกันการฆ่าตัวตาย

 

ภาคีเครือข่าย 3 ประสานสุขภาพจิตและภาคประชาชน ร่วมแถลงนโยบายเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 2024 พร้อมชูประเด็น เพื่อนแท้ดูแลใจ ป้องกันภัยจากการฆ่าตัวตาย

            วานนี้ (10 กันยายน 2567) กรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงนโยบายเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 2024 เน้นย้ำการสร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือด้วยการบูรณาการความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อภาระทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากการสูญเสีย โดยใช้หลักการเพื่อนแท้ที่พร้อมจะรับฟังและดูแลใจ ป้องกันภัยจากการฆ่าตัวตาย พร้อมชี้การป้องกันการฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง

            นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข โดยสาเหตุที่ทำให้มีการฆ่าตัวตายเกิดจาก การตัดสินใจชั่วขณะด้วยอารมณ์ที่หุนหันพันแล่น และยังมีสาเหตุที่สำคัญประกอบด้วยความผิดหวังเสียใจ จากความสัมพันธ์ เศรษฐกิจและความกดดันทางสังคมร่วมด้วย กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อของการป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดยมีมาตรการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเน้นการเข้าถึงการบริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ภาคีเครือข่ายในชุมชนช่วยเหลือกันจนถึงบุคลากรสาธารณสุขในการเข้าถึงระบบช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กวัยเรียน วัยรุ่น ผู้สูงอายุ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แอปพลิเคชันประเมินสุขภาพจิต ได้แก่ Mental Health Check In และ DMIND เพื่อสำรวจความเสี่ยงที่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย นอกจากระบบสำรวจใจยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบความช่วยเหลือที่มีความเร่งด่วนได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ Hope Task Force แต่ทั้งนี้ความสำเร็จของนโยบายที่สำคัญไม่ได้เกิดจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร และเครือข่าย รวมทั้งประชาชนที่จะเป็นเพื่อนแท้ดูแลใจประชาชนในสังคม จึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย นโยบายที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญในปีนี้
คือการให้ความสำคัญต่อการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น และอาสาสมัคร เพื่อให้เกิดระบบที่แข็งแรงในการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพราะจะนำมาสู่ความยั่งยืน

             ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยในปีพุทธศักราช 2566 มีคนไทยที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คนทุก 2 ชั่วโมง ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย การมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงยังมีผลกระทบในวงกว้างต่อครอบครัวประชาชนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย แม้ปัญหาการฆ่าตัวตายของแต่ละบุคคลอาจมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่การมีมาตรการที่ดีในการจัดการปัญหานี้จะช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยลงได้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ขอเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการและให้ความร่วมมือดังกล่าวได้แก่ 1. การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ให้เพียงพอต่อการให้บริการทางจิตเวช และสนับสนุนด้านวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลให้มีความสามารถในการประเมินและให้การช่วยเหลือโดยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางจิตเวชได้โดยสะดวกและรวดเร็ว  ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการลดการฆ่าตัวตายในสังคมไทย 2. การศึกษาวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย 3. การให้คำปรึกษาและร่วมมือกับทุกภาคส่วนของในการนำองค์ความรู้ด้านจิตเวชไปใช้ในการป้องกันการฆ่าตัวตายทั้งในระดับบุคคลครอบครัวและสังคม 4. การเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อลดตราบาปและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคจิตเวชและการฆ่าตัวตายในสังคมไทย ในฐานะประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขอเป็นตัวแทน
เชิญชวนทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนได้ร่วมมือกันในการป้องกันการฆ่าตัวตายในสังคมไทย โดยขอให้ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อเนื่องตลอดปี และตลอดไปให้คนไทย

            ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งเกิดจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด และปัจจัยสังคม ในการลดอัตราการฆ่าตัวตาย ช่วยให้เข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ หรือชีวภาพ การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถพัฒนานโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพจิต หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้การสนับสนุน สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การป้องกันการฆ่าตัวตายต้องการการดูแลที่เป็นระบบ แนวทางในการป้องกันและดูแลผู้ที่มีปัญหาการฆ่าตัวตายต้องครอบคลุมทั้งการดูแลทางการแพทย์ การสนับสนุนทางสังคม ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ที่มีปัญหาการฆ่าตัวตายและขยายขยายแนวทางสู่ภาคประชาชน บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและดูแลอย่างทั่วถึง

            ภก.วีรวัฒน์  มีแก้ว  ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมจัดงานรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2567 ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ กรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นี่เป็นครั้งที่สองที่กลุ่มบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้มีส่วนร่วม เพราะเราตระหนักรู้ถึงปัญหาของสถาณการณ์โรคซึมเศร้าและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้าที่ผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตายที่กำลังเพิ่มขึ้นในประเทศไทย และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตระหนักดีว่าโรคซึมเศร้าร่วมกับความคิดฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและผู้ดูแลของพวกเขาด้วยและเรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและพันธมิตรในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความท้าทายในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ เราเชื่อว่าเมื่อสามารถระบุอาการเตือนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เราจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้น บริษัทดีใจที่ได้เป็นส่วนร่วมกับ กิจกรรมนี้หวังว่าการรณรงค์นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านและสังคมของเราต่อไป

******************** 11 กันยายน 2567