press ข่าววันที่ 8 สิงหาคม 2567
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 374
กรมสุขภาพจิต ชูประเด็นการสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตโดยวิเคราะห์จากอดีตและปัจจุบัน มุ่งสู่อนาคตเพื่อทุกคน ตามแนวคิด Friendly Mental Health Literacy for All
วานนี้ (8 สิงหาคม 2567) กรมสุขภาพจิต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำปี 2567 ในวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญต่องานสุขภาพจิต สอดคล้องกับนโยบายความรอบรู้ด้านสุขภาพ หนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนไทย มีทักษะในการเข้าถึงสุขภาพและบริการสุขภาพจิต เข้าใจข้อมูลสุขภาพจิต ตัดสินใจดูแลสุขภาพจิตตนเองและครอบครัว รู้วิธีการหาความช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทำการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน เพื่อยกระดับความรอบรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ตามแนวคิด Friendly Mental Health Literacy for All โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการสุขภาพกายและสุขภาพจิต การปรับ mindset ของผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้จัดกระบวนการมากกว่าผู้สอน การเสริมความสามารถประชาชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตตนเองและคนรอบข้าง มีการค้นหาผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิตในชุมชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพจิตที่ตรงกับสถานการณ์และความสนใจของสังคม รวมถึงการเพิ่มแหล่งรวมข้อมูลความรู้สุขภาพจิตเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นการพัฒนาเครือข่ายเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครือข่ายที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางการดำเนินงานจากกรมสุขภาพจิต ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นเป้าหมายมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และมีพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ที่มีความสอดคล้องกับบริบทความต้องการและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน
ในแต่ละพื้นที่
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ความรอบรู้สุขภาพจิตเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการยอมรับและให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทำให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ในการช่วยดูแลสุขภาพจิตตนเองและคนรอบข้าง ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ลดความรุนแรงของปัญหาและสามารถอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุข โดยกรมสุขภาพจิตขับเคลื่อนผ่านผ่านกลไกการทำงานของเครือข่ายเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตทั้ง 2 กลไกคือ 1. On Air สื่อสารสร้างความตระหนัก ความรอบรู้สุขภาพจิตผ่านสื่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ และ 2. On ground ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์สุขภาพจิตและหน่วยบริการจิตเวชทั้ง 33 แห่ง ดังนั้นกลไกการขับเคลื่อนทั้งสองส่วนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เกิดกระบวนการสร้างความรอบรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและส่งเสริมการขับเคลื่อนงานความรอบรู้สุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวว่า ในปัจจุบัน การส่งเสริมสุขภาพจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรดำเนินการอย่างจริงจัง และกระบวนการสร้างความรอบรู้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตระหว่างเครือข่ายในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร นักวิชาการอิสระ วิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) มาเป็นวิทยากรในการประชุมดังกล่าว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายจะเป็นการสร้างความเข้าใจและทิศทางการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต นำไปสู่การพัฒนาความรอบรู้สุขภาพจิตในระดับเขตสุขภาพ และเกิดกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานเสริมสร้างความรอบรู้ในระดับพื้นที่อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต สามารถดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้ต่อไป
******************** (9 สิงหาคม 2567)