IMG 9354

 

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการเรียนรู้ควบคุมอารมณ์สำคัญต่อเยาวชน พร้อมเชิญชวนสถาบันการศึกษาร่วมดูแลใจ การสร้างสังคมใหม่ไร้ความรุนแรง

      วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2568) กรมสุขภาพจิต แนะนำเยาวชนต้องได้รับการเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ พร้อมเชิญชวนสถาบันการศึกษาควรจัดให้มีมาตรการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้รู้จักการใช้วิธีแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ และไม่ใช้ความรุนแรง เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

      นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข่าวที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งแสดงความรุนแรงต่อกันจนเป็นที่สนใจ ของประชาชน และมีการขุดคุ้ยวิพากษ์วิจารณ์จนลุกลามไปถึงสมาชิกในครอบครัวของทุกฝ่ายนั้น กรมสุขภาพจิตห่วงใยการนำเสนอ ภาพข่าวที่แสดงถึงความรุนแรง ส่งผลให้ผู้ติดตามรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจหรือนำไปสู่การเลียนแบบได้ ซึ่งตามปกติแล้ววัยรุ่นเป็นวัย ที่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้น วัยรุ่นจะต้องมีการปรับตัวหลายด้าน ทั้งการเข้าสังคม การเรียน การเตรียมตัวที่จะประกอบอาชีพของตนเอง จึงทำให้มีความกดดันหลายๆ เรื่อง บางคนถ้าปรับตัวได้ดีก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่ บางคนไม่สามารถปรับตัวได้หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี อาจจะทำให้เกิดปัญหา ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ ดังนั้น ครอบครัวและสถานศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยแนะนำ ตักเตือนให้วัยรุ่นเดินไปในทางที่ถูกต้อง พร้อมกันนั้นยังต้องเฝ้าระวัง ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมีความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อที่จะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที  

       นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เด็กและเยาวชนควรที่จะเรียนรู้การเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่กลั่นแกล้ง ล้อเลียน ไม่ใช้ ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะจะทำให้ส่งผลกระทบที่ตามมาทั้งผู้ที่กระทำและผู้ที่ถูกกระทำ โดยในผู้กระทำ ได้แก่ การโดนลงโทษ การโดนคุกคาม ทั้งในสื่อโซเชียลรวมไปถึงครอบครัว ในส่วนของผู้ถูกกระทำ จะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต ส่งผลกระทบทางจิตใจทำให้ปรับตัวในการดำเนินชีวิตและการเรียนได้ยาก ทั้งนี้ อยากฝากให้วัยรุ่นและเยาวชนทั่วไปให้ช่วยกัน สอดส่อง หากพบการกระทำรุนแรงเกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อนหรือในสถาบันการศึกษา ให้รีบแจ้งอาจารย์ที่รับผิดชอบตั้งแต่เนิ่นๆ และ ในส่วนของสถาบันการศึกษา ควรจัดให้มีมาตรการส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักการใช้วิธีแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ และไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง รวมไปถึงมีระบบป้องกันโดยมีหน่วยงานช่วยเหลือ มีอาจารย์ผู้รับผิดชอบและมีเครือข่ายนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา ช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยกรมสุขภาพจิตได้มีการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยเรียกแพลตฟอร์มนี้ว่า “School Health HERO” ให้ครูใช้เพื่อช่วยเฝ้าระวังเด็กนักเรียน ในโรงเรียนว่าจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติด้านสุขภาพจิต พฤติกรรม อารมณ์ หรือบุคลิกภาพหรือไม่ และมีระบบเชื่อมโยงไปยัง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนในระดับอุดมศึกษามีโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเป็นความร่วมมือจากกรมสุขภาพจิตสนับสนุนองค์ความรู้และวิทยากรเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันการศึกษา และมีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 47 แห่ง โดยแบ่งเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 9 แห่ง

    หากสถาบันการศึกษาใดสนใจระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนและนักศึกษา สามารถประสานมาได้ที่กรมสุขภาพจิต และสำหรับประชาชนทั่วไปหากสงสัยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถตรวจสุขภาพใจกับ MENTAL HEALTH CHECK-IN หรือ www.วัดใจ.com หรือสามารถรับการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง


12 กุมภาพันธ์ 2568