Press ข่าววันนี้ 2 กุมภาพันธ์ 2568
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 345
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนจากการติดตามข่าวสารกรณีไฟไหม้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2568) กรมสุขภาพจิต เร่งสื่อสารสังคมในการช่วยกันในกลั่นกรองรูปภาพอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการอธิบายข้อมูลโดยไม่ลงลึกถึงเหตุการณ์และการก่อเหตุเพื่อป้องกันการก่อเหตุลอกเลียนแบบความรุนแรงในสังคม พร้อมแนะนำซึ่งวิธีการป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการรับสื่ออย่างมีสติและรู้เท่าทัน
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี กรมสุขภาพจิต ขอความร่วมมือในการไม่เผยแพร่ภาพที่ไม่ได้กลั่นกรอง รวมถึงการอธิบายลักษณะการก่อเหตุโดยลงลึกรายละเอียด มีผลกระทบต่อจิตใจของบุคคล เพราะการเยียวยาไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสารในหลายด้านทั้งในทางบวกและทางลบ และวิธีการรับรู้สื่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตแก่ประชาชนอย่างชัดเจน ภาพและเสียงความรุนแรงที่ถูกนำเสนอโดยไม่มีการควบคุม การที่ต้องเห็นภาพความรุนแรงซ้ำๆ ทำให้ผู้คนรู้สึกหดหู่ หวาดกลัวและรู้สึกขาดความปลอดภัยในสังคมได้ การเสพสื่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องยังเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเครียดเฉียบพลัน ผู้รับสื่ออาจมีอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เสพสื่อ แต่ยังอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในสังคมอีกด้วย เนื่องจากเมื่อรับชมความรุนแรงซ้ำๆ จิตใจอาจเริ่มชินชาและมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้สึกผิดหรือเห็นเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงการเสพสื่อที่มีความรุนแรงต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความคิดที่ลดทอนศีลธรรม เช่น มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยุติธรรม หรือจำเป็นเพื่อแก้ปัญหา หรือหากเกิดความโกรธหรือความเครียด สามารถระบายออกได้ด้วยการกระทำ
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ซึ่งวิธีการรับมือกับผลกระทบของสื่อ คือ 1.เลือกรับสื่อที่มีประโยชน์ ควรเลือกรับสื่อที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง 2.จำกัดเวลาในการใช้สื่อ กำหนดเวลาในการใช้สื่อแต่ละวันเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและชีวิตประจำวัน 3. ฝึกการคิดวิเคราะห์ ควรฝึกคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อและตรวจสอบความถูกต้องก่อนเชื่อ และ 4.สร้างสมดุลในชีวิต ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสมระหว่างการใช้สื่อและการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย, พบปะผู้คน, หรือทำงานอดิเรก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สื่อมีทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบต่อจิตใจ การรู้จักเลือกรับสื่อและใช้อย่างมีสติจะช่วยลดผลกระทบทางลบและเพิ่มประโยชน์จากสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตมีช่องทาง โดยสามารถตรวจสุขภาพใจกับ MENTAL HEALTH CHECK-IN หรือ www.วัดใจ.com และสามารถรับการให้ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชนผ่าน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
********************
2 กุมภาพันธ์ 2568