2305D600 7D7F 442D 9171 4EE285D1B57A

 

กรมสุขภาพจิต ชูการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงวัย ส่งเสริมการเข้าสังคมภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ พร้อมแนะนำบริการดูแลผู้สูงอายุแบบกลางวัน (Day Care) ส่งเสริมศักยภาพและความภูมิใจในตนเอง ยกระดับอารมณ์หลีกเลี่ยงโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

      วันนี้ (9 พฤษภาคม 2567) กรมสุขภาพจิต ส่งเสริมนโยบายด้วยการการบูรณาการการคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายด้วยแบบประเมิน 2Q plus ในการคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน พร้อมเร่งขยายพื้นที่ในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต

     นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การดูแลผู้สูงอายุ “สุขภาพใจ มีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย” การที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจที่ดี จะสามารถรับมือกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงใช้ศักยภาพที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 - 2568 ประเด็น “ยกระดับระบบริการรองรับสังคมสูงวัย และลดอัตราตายโรคสำคัญ” ครอบคลุมมิติการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งการดำเนินงานที่สำคัญประกอบด้วย การบูรณาการการคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายด้วยแบบประเมิน 2Q plus ในการคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ร่วมกับกรมอนามัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เชื่อมโยงการบันทึกการคัดกรอง
ในระบบข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงกับระบบบริการร่วมกับกรมการแพทย์ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร่วมไปถึงมีการพัฒนาบริการให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ (Dementia with BPSD)  พัฒนามาตรฐานการดูแลด้านสุขภาพจิตผู้สูงอายุในสถานบริบาล/บริการ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เข้าอยู่ในสถานบริการได้รับการดูแลครอบคลุมด้านสุขภาพจิต ส่งผลต่อความสุขและคุณภาพชีวิต

    นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้พัฒนานวัตกรรม สื่อ เทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ครอบคลุมถึงผู้ดูแล อาทิ  โปรแกรมการเสริมสร้างสมรรถนะทางใจสำหรับผู้สูงอายุ (Elderly Mental Fitness Program) โปรแกรมกลุ่มการดูแลแบบเกื้อกูลบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ 4 สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การสร้างสุข 5 มิติ สำหรับผู้สูงอายุ การสื่อสารและสร้างพลังใจสำหรับผู้สูงอายุ การรับมือกับความเหงาและความโดดเดี่ยวในผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (Mental Health Literacy) ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลเกิดความตระหนักและยอมรับต่อการเจ็บป่วยทางจิต สามารถจัดการ ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และขอรับ
ความช่วยเหลือ ตลอดจนสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือบุคคลรอบข้างที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม

    นายแพทย์อาทิตย์  เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุได้แก่ โรคสมองเสื่อมภาวะซึมเศร้า ซึ่งโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ได้จัดบริการเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช เช่น คลินิกความจำ และบริการดูแลผู้สูงอายุแบบกลางวัน (Day Care) ภายใต้โครงการบ้านสราญใจเพื่อให้บริการแบบผู้ป่วยนอก โดยให้บริการส่งเสริม และป้องกันโดยเน้นการกระตุ้น การทำงานของสมองเพื่อป้องกันหรือประคองอาการความจำเสื่อม และการกายบริหารเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ด้วยชุมชนผู้สูงอายุที่มารวมตัวเจอกันใน Day Care นี้ จะช่วยส่งเสริมการเข้าสังคมภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เราสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพและความภูมิใจในตนเอง ยกระดับอารมณ์เพื่อหลีกเลี่ยงโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ด้วยโปรแกรมกิจกรรมที่วางแผนไว้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและมีโอกาสพบปะสังสรรค์ในกลุ่ม
ที่เป็นศูนย์กลาง โดยทั้งหมดนี้ยังคงได้รับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นตามที่ผู้สูงอายุต้องการ

      นางกรรณิการ์ หนูสอน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 กล่าวว่า นอกจากจะดำเนินการภายในระดับหน่วยงานกรมสุขภาพจิตศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 ยังได้ให้ความร่วมมือกับเครือข่าย โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวันนาสาร (Nasan Day Care) ภายใต้โครงการบูรณาการ การพัฒนาการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ครอบคลุมความสุข 5 มิติ โดยให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง โดยมีทั้งกลุ่มปกติ หรือกลุ่มที่สมองเริ่มมีความบกพร่องด้านความสามารถในการจำเพียงเล็กน้อยที่ไม่มีปัญหาเรื่องการได้ยินและการมองเห็น โดยรูปแบบการบริการแบบเช้า – เย็นกลับ โดยกิจกรรมจะประกอบด้วย การประเมินต่างๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน การพลัดตกหกล้ม ความสุข ประเมินความพึงพอใจ ฯลฯ รวมไปถึงกิจกรรมและการฟื้นฟูและกระตุ้นความรู้คิดควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง

********************    9 พฤษภาคม 2567